วันศุกร์ ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 20:35 น.

การศึกษา

จัดสร้าง “พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร”

วันพฤหัสบดี ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 10.37 น.

จัดสร้าง “พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร”

 

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีบวงสรวงและพิธีเททอง “พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร” ณ สำนักช่างสิบหมู่ พุทธมณฑล 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมี นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหาร อดีตผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชนร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

 

พิธีบวงสรวง โดยพระครูสิทธิไชยบดี (พราหมณ์ ยศ โกมลเวทิน) พระครูพราหมณ์พราหมณ์พิธีจากโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า พระเถรานุเถระนั่งปรก 4 รูป ได้แก่ พระครูโกศลนวการ (หลวงพ่อปั่น กวิสฺสโร) วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พระครูสมบูรณ์จริยธรรม (หลวงพ่อแม้น) วัดหน้าต่างนอก อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พระครูอดุลวิริยกิจ (หลวงพ่อเอื้อน) วัดวังแดงใต้ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พระมหาเป็นหนึ่ง สุนทรเมธี ป.ธ.9 วัดบรมวงษ์อิศรวราราม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จากนั้น อธิบดีกรมศิลปากร ประกอบพิธีเททอง “พระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร” ขนาดหน้าตัก 6 นิ้ว จำนวน 9 องค์นำฤกษ์ โดยมีพระญาณวิกรม (อุเทน สิริสาโร) เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ จ.สมุทรสาคร เป็นประธานสงฆ์ และพระสงฆ์ 9 รูป เจริญชัยมงคลคาถา 

พระพิฆเนศวร เป็นเทพเจ้าสำคัญในศาสนาฮินดู และเป็นที่รู้จักกันในนาม เทพแห่งศิลปวิทยา อันเป็นผู้ประสิทธิประสาทความรู้และความสำเร็จในการศึกษา และการสร้างสรรค์ศิลปกรรมทุกแขนง นอกจากนั้น ยังเป็นเทพผู้ขจัดอุปสรรคปัญหาทั้งปวง เป็นเทพที่สังคมไทยยอมรับนับถือมาเป็นเวลานาน และนิยมสร้างรูปเคารพไว้บูชา กรมศิลปากรได้นำรูปพระพิฆเนศวรล้อมรอบด้วยดวงแก้ว 7  ดวง อันหมายถึง ศิลปวิทยา 7  ประการ ได้แก่ ช่างปั้น จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ วาทศิลป์ สถาปัตยกรรม และอักษรศาสตร์ มาใช้เป็นตราประจำกรมศิลปากร

 

ตั้งแต่พุทธศักราช 2480  สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจของกรมศิลปากร ในการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างสรรค์ เผยแพร่ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร วันที่ 27 มีนาคม 2562  กรมศิลปากรจึงดำเนินการจัดสร้างพระพิฆเนศวร ๑๐๘ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร เพื่อเป็นที่ระลึกใน วาระสำคัญดังกล่าว โดยนำแบบที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ ของไทย ได้ออกแบบไว้มาเป็นต้นแบบ ทั้งนี้ กำหนดจัดสร้างพระพิฆเนศวร แบบประทับนั่ง เนื้อบรอนซ์ ขนาด หน้าตัก 9 นิ้ว , เนื้อทองเหลือง ขนาดหน้าตัก 6  นิ้ว , 3 นิ้ว และ 1 นิ้วครึ่ง นอกจากนี้ยังมีขนาดหน้าตัก 1/2 นิ้ว  และเหรียญรูปไข่ ซึ่งมีทั้งเนื้อทองคำ เงิน และบรอนซ์ ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งจอง หรือสอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัสดุ สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทร. 0-2221-4443  และ 0-2225-4534 

หน้าแรก » การศึกษา