วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 06:52 น.

การศึกษา

ม.มหิดล เปิดประเด็นใช้ AI ในงานเวชกรรมรักษาโรคได้ตรงจุด

วันพฤหัสบดี ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 16.31 น.

ม.มหิดล เปิดประเด็นใช้  AI ในงานเวชกรรมรักษาโรคได้ตรงจุด

 

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานราชบัณฑิตสภา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยงานพันธมิตร จัดประชุมวิชาการ “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0” (Precision Medicine in Thailand 4.0) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการจากทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความก้าวหน้าและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาที่เกี่ยวข้อง โดย รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ หนึ่งในผู้ร่วมบรรยายในหัวข้อ  "Artificial Intelligence (AI), the Enabler of Precision Medicine" กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่อย่าง "ปัญญาประดิษฐ์" (AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราอย่างมาก ซึ่งในเรื่อง Precision Medicine หรือ “เวชกรรมตรงเหตุ” คือการทำอย่างไรจะรักษาโรคได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยมีการวิเคราะห์ไปถึง DNA ร่วมกับปัจจัยของสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งในการประชุมวิชาการได้มีการเสนอ frame work ที่จะทำให้แพทย์และวิศวฯ ได้เห็นประเด็นในเรื่องการพัฒนาPrecision Medicine ร่วมกันด้วยการใช้ AI ซึ่งในร่างกายมนุษย์ ถ้าเราทำให้ทุกอย่าง จาก analog ให้เป็น digital เราจะสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ภาพสมอง การเปลี่ยนแปลงระดับ DNA การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนต่างๆ  ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา

“คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการใช้ AI เพื่อการพัฒนา Precision Medicine แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรก คือ Predictive Technology ซึ่งได้แก่ wearable sensor หรือเซ็นเซอร์ที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้าต่างๆ เพื่อที่จะวัดสัญญาณทั่วไปดูการเปลี่ยนแปลงของระดับเส้นประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ ประกอบกับการดูข้อมูลเวชระเบียนในเชิงสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมเพื่อคาดเดาการที่จะกลับมาเกิดโรค รวมทั้งการประมวลผลโดยการใช้ Imaging หรือรูปภาพต่างๆ มาเฝ้าระวังโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างเช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น กลุ่มที่สอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษา อย่างเช่น การนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการรักษาโรคออทิสติก ด้วยระบบ software ร่วมกับระบบ training ทางด้านสมอง มีการกระตุ้นสมองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ การทำสมองเทียมแทนสมองที่ตายแล้วด้วยเทคโนโลยี AI สำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ตลอดจนในเรื่องของหุ่นยนต์ผ่าตัด โดยการใช้เทคโนโลยี AI วางแผนร่วมกับการใช้ Imaging และกลุ่มที่สาม เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Assistive tools  หรืออุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของการพัฒนาในเรื่อง software เนื่องจากข้อมูลมีเยอะมาก เราจึงจะต้องเอาข้อมูลมาทำให้แพทย์สามารถใช้งานได้ทันที โดยมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล”  รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ กล่าว

“แนวโน้มของ AI ควรที่จะอยู่ในวิชาพื้นฐานของทุกวิชาชีพ ไม่ใช่เพียงแค่ใน Precision Medicine วิศวกรที่มีความรู้ความชำนาญด้าน AI เพียงฝ่ายอย่างเดียว ไม่สามารถคุยกับแพทย์ที่ไม่มีความรู้ด้าน AI ได้ แพทย์อาจไม่ต้องรู้ลึกมาก แต่รู้ว่ามันคืออะไร ใช้เป็น และช่วยคิดได้ ซึ่งปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการเปิดคอร์ส AI เป็นวิชาเลือกให้กับนักศึกษาแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปสอนให้”

“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ ในเรื่องของการเก็บรักษาข้อมูล พวกกลุ่มระบบ Cloud ต่างๆ อยากให้มองบริษัทของประเทศไทย ซึ่งมีให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับโอกาส ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้บริการของต่างประเทศ เราฝากข้อมูลไว้กับเขา เขาก็รู้ข้อมูลเราหมด ถึงเขาจะใช้หรือไม่ใช้ แต่อย่างไรเขาก็เห็นข้อมูลของเรา นอกจากนี้ อยากให้คนที่ทำงานด้าน AI ทุกคนที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาได้มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา Open Platform ตรงนี้ไปด้วยกัน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนที่ทำงานด้าน AI เพิ่มเติมด้วย”

 
 

หน้าแรก » การศึกษา