วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 10:03 น.

การศึกษา

มรภ.สงขลา ร่วมอนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง ต.เกาะแต้ว

วันพุธ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, 12.03 น.

มรภ.สงขลา ร่วมอนุรักษ์ข้าวพื้นเมือง ต.เกาะแต้ว

 

                

มรภ.สงขลา นำนักศึกษาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกิจกรรมดำนา รักษาวิถีไทย เรียนรู้ประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน พร้อมถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการสู่ชุมชน หวังช่วยเพิ่มผลผลิต ควบคู่ปลูกฝังคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน นำคณาจารย์ของทางคณะฯ พร้อมด้วยนักศึกษาชั้นปี 3 และปี 4 สาขาเทคโนโลยีการเกษตร แขนงวิชาการผลิตพืช เข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าทางการเกษตร กิจกรรมอนุรักษ์และส่งเสริมการผลิตข้าวพื้นเมืองวิถีพอเพียง ประจำปี 2562 ตามคำเชิญของเทศบาลตำบลเกาะแต้ว ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ความรู้ตามหลักวิชาการ และหันมาสนใจทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ตลอดจนฟื้นฟูประเพณีลงแขกปลูกข้าว ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นให้กลับคืนสู่ชุมชน โดยทางคณะฯ ได้นำเชื้อจุลินทรีย์บลาซิลลัสชนิด Bacillus megaterium สำหรับจุ่มแช่ราก ช่วยเร่งรากให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น ไปใช้กับต้นกล้าข้าวที่ร่วมกันปลูกในครั้งนี้ด้วย

 

ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พื้นที่นา ต.เกาะแต้ว เป็นพื้นที่มีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีความหลากหลายพันธุ์ ได้แก่ เล็บนก หอมกระดังงา หอมจันทร์ ดอกพะยอม รวงรี ลูกปลา ดำเบา จำปา เป็นต้น ซึ่งการปลูกข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่นและการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองในแหล่งที่ปลูกเพื่อช่วยไม่ให้พันธุกรรมข้าวสูญหายไปจากธรรมชาติ นับเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องส่งเสริมสนับสนุน ดังนั้น กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและมีประโยชน์อย่างมาก เพราะแปลงนานี้จะเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้ นอกจากนั้น กิจกรรมนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และได้ฝึกประสบการณ์ตรงตามศาสตร์สาขาวิชา โดยมีชุมชนเป็นฐานการนำความรู้สู่การปฏิบัติเชิงพื้นที่

 

 อาจารย์สุเพ็ญ ด้วงทอง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร กล่าวว่า รู้สึกประทับใจมากที่ทางคณะฯ จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีของคณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรภายในคณะฯ รวมทั้งได้ไปให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าวอินทรีย์แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่บริการวิชาการ โครงการนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่ศึกษาวิชาชีพด้านการเกษตร ได้เล็งเห็นถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเกษตรและการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว ถือเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จ และทางคณะฯ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

                

ด้าน นายบุญฤทธิ์ ภาระกิจโกศล กล่าวว่า มีความสุขมากที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ แม้แดดจะร้อนแต่ก็สนุก ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีในชีวิต เพราะนักศึกษาสมัยนี้รู้จักการดำนาน้อยมาก กิจกรรมนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับวิธีการดำนา และได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของข้าว กว่าจะได้ข้าวหนึ่งเมล็ดต้องลำบากเพียงใด การทำนาจะสอนให้นักศึกษารู้จักคุณค่าของข้าว และรักษาวัฒนธรรมไทย ทั้งยังช่วยเพิ่มความสามัคคีในหมู่คณะ ซึ่งตนเคยดำนาในช่วงวัยเด็ก โดยได้รับการสอนจากคุณย่า

 

น.ส.เพียงตะวัน สังขาเสน กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้านดำนา ก่อนหน้านี้ไม่เคยดำนาแบบจริงจังมาก่อน เมื่อได้มาทำจึงเข้าใจว่าเหนื่อยมากๆ กว่าจะได้ข้าวมา ซึ่งในการลงแขกดำนาสิ่งสำคัญมากที่สุดคือเพื่อนๆ ที่ร่วมด้วยช่วยกัน หลายคนสนุกกว่า การทำนาดำสะท้อนให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนในพื้นที่ที่มาช่วยกันทำนา อย่างน้อยการดำนายังคงดำรงอยู่ให้เด็กสมัยใหม่ได้เรียนรู้วิถีโบราณที่อาจหายไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่

 

นายธนวัฒน์ เรืองเดช นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการเกษตร การผลิตพืช กล่าวบ้างว่า ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมทำนากับกลุ่มชาวบ้าน ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการทำนาไม่ง่ายเลยกว่าจะได้ข้าวมากิน ซึ่งในกิจกรรมนี้ตนและเพื่อนๆ ช่วยกันปลูกข้าวพันธุ์หอมจันทร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กอข้าวมีขนาดใหญ่และให้ผลผลิตต่อรวงดี

 

นายมนูญศักดิ์ จันทร์ทองอ่อน กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมดำนากับชาวบ้านและเพื่อนๆ พี่ๆ ที่บ้านเกาะแต้ว เป็นครั้งแรกของตนที่ได้ดำนาปลูกข้าว ทำให้ได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ มากขึ้น การทำนาดำทำให้กอข้าวไม่ติดกันแน่นจนเกินไป เพราะหากแน่นจนเกินไปจะทำให้ต้นข้าวไม่สมบูรณ์ และการดำนายังทำให้เรากำหนดระยะได้ ทำให้กอข้าวต้นใหญ่สมบูรณ์ ให้ผลผลิตมากกว่า

 

ปิดท้ายด้วย นายอัสมาอ์ ฝาเบ็ญแหม กล่าวว่า การไปดำนาครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นตา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตนได้ลงแขกดำนา ทำให้ได้รับทั้งความรู้และการปฏิบัติจริงเกี่ยวกับวิธีการปักดำ ระยะที่เหมาะสม การอนุรักษ์พันธุ์ข้าว การปลูกข้าวแบบไร้สารเคมี และการอนุรักษ์ประเพณีแบบดั้งเดิม กิจกรรมนี้ให้อะไรตนหลายอย่าง ไม่ว่าจะในเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของชาวบ้าน การร่วมลงมือทำระหว่างรุ่นพี่ปี 4 กับรุ่นน้องปี 3 และยังมีน้องๆ โรงเรียนเกาะแต้ว มาร่วมปักดำ รวมถึงชาวบ้านที่คอยให้ความช่วยเหลือในด้านอาหารอีกด้วย

 

(email  ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com , bat_mamsao@yahoo.com)

หน้าแรก » การศึกษา