วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 05:27 น.

การศึกษา

มข.โชว์เครื่องเก็บกักละออง ป้องกันเชื้อโรคจากการทำฟัน

วันพุธ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 12.01 น.

มข.โชว์เครื่องเก็บกักละออง ป้องกันเชื้อโรคจากการทำฟัน

 
ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โชว์เทคโนโลยีนวัตกรรม  อุปกรณ์เก็บกักละออง ป้องกันเชื้อโรคจากการทำฟัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคในปัจจุบัน สร้างความปลอดภัยต่อทันตบุคลากร และคนไข้ รวมถึงการสร้างความมั่นใจต่อสังคม ทั้งนี้เป็นผลงานที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  ในงานได้รับเกียรติจาก รศ.นพ. ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานในพิธี  โดยมี ศ. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ รศ.ทพ.สมเกียรติ  เหลืองไพรินทร์อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทพ.สุรัตน์  ลีนะศิริมากุล นักวิจัย  ศิษย์เก่าคณะทันตแพทยศาสตร์  คุณ เซี่ยง อิง หวัง และ คุณสุวัธชัย เดชาพงศา  กรรมการ บริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด  คณะผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมกิจกรรม  ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
 
งานวิจัย “อุปกรณ์เก็บกักละออง” ช่วยลดการกระจายเชื้อโรคจากการทำฟัน เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันของ รศ. สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์  อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ทพ. สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล นักวิจัย  ศิษย์เก่าคณะทันตแพทยศาสตร์  เป็นงานวิจัยที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของทันตแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังควบคุมไม่ได้ เพราะมีโอกาสเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคระหว่างการทำหัตถการ ทำให้การทำงานด้านทันตกรรมมีความเสี่ยง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ซึ่งจุดเด่นในการใช้เป็นอุปกรณ์เก็บกักละอองนี้คือ  การป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค ช่วยลดการสัมผัสละอองที่ฟุ้งกระจายในขณะปฏิบัติงานได้ถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ โดยทันตแพทย์จะใช้ครอบเฉพาะจมูกและปากคนไข้เท่านั้น จึงตัดปัญหาเสียงก้องหรือเสียงดังรบกวนคนไข้  ส่วนวัสดุที่ใช้ทำปลอกสวมแขนและฐานรอง ใช้วัสดุเช่นเดียวกันกับหน้ากากอนามัย (SMS Fabric) ซึ่งมีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่าน แต่อากาศไหลผ่านได้ดี โดยทางนักวิจัยได้มีการทดสอบการไหลของอากาศภายในเครื่องพบว่ามีอากาศใหม่ที่ไหลเวียนเข้าไปภายในกล่อง ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 9 ลิตรต่อวินาที และจากการตรวจสอบภายในอุปกรณ์ ไม่พบแรงต้านการหายใจแต่อย่างใด สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยจะสามารถหายใจได้โดยสะดวก และไม่รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด แม้จะนอนทำฟันเป็นเวลานาน
 
รศ.สมเกียรติ  เหลืองไพรินทร์ นักวิจัย กล่าวว่า “ในด้านของความปลอดภัยในการทำความสะอาดหลังจากทำหัตถการแล้ว ทางทีมนักวิจัยได้มีการออกแบบให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทำการฆ่าเชื้อโดยการพ่นหมอกน้ำยาฆ่าเชื้อ Electrolyzed Oxidizing Water (EOW)  โดยต่ออุปกรณ์ เข้าไปในกล่องเก็บกักละออง   พบว่า EOW มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้มากกว่า 99.99% หลังจากนั้นให้ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเฉพาะทางทันตกรรม หรือใช้ทิชชู่เปียกที่อาบด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเฉพาะทางทันตกรรมทำความสะอาดอีกหนึ่งรอบจะสามารถฆ่าเชื้อได้ 100% จะช่วยให้การทำงานของทันตแพทย์ และผู้ช่วยทันตแพทย์ปลอดภัย  ไม่ได้รับการติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ทางทันตกรรม”
 
ทพ. สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล นักวิจัยร่วม กล่าวว่า “จากการออกแบบและการทำสอบในด้านของความปลอดภัย  สมรรถนะในการทำงาน การทำความสะอาดหลังจากการอุปกรณ์แล้ว นับได้ว่า “อุปกรณ์เก็บกักละออง” เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยให้ทันตแพทย์ และคนไข้ปลอดภัยขึ้น และลดการติดเชื้อจากละอองที่เกิดจากการการทำฟัน โดย“อุปกรณ์เก็บกักละออง”ได้มีการจดอนุสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางวิศวกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องแรกในโลกที่ทำงานได้เช่นนี้
 
 
 
Email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา