วันเสาร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:14 น.

การศึกษา

"อ.สันติศึกษามจร" ชี้อธิกรณสมถะแก้ขัดแย้งสงฆ์ ขาดการนำมาใช้แก้อธิกรณ์อย่างจริงจัง

วันเสาร์ ที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 15.48 น.

วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)   เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า หลักสูตรสันติศึกษา มจร จัดสอบวัดคุณสมบัตินิสิตปริญญาเอก หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา มจร โดยมีนิสิตระดับปริญญาเอก รุ่น ๕ เข้าสอบวัดคุณสมบัติหลังเรียนครบทุกวิชา โดยการวัดคุณสมบัติประกอบด้วยว่าด้วยทฤษฎี การประยุกต์และการวิจัย ผ่านทักษะการเขียนสื่อสารออกมาให้มีความชัดเจน โดยการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นจินตามยปัญญาคือคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และภาวนามยปัญญาคือ นำไปปฎิบัติจนเกิดความเชี่ยวชาญมีผลลัพธ์ที่ชัดเจน ทักษะการสื่อสารผ่านการเขียนจะต้องทำบ่อยๆ เขียนอยู่บ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเข้าใจจะสามารถเขียนหรือสื่อสารออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจจะไม่สามารถสื่อสารออกมาได้เลย เมื่อศึกษาแล้วจึงควรสามารถสื่อสารออกมาผ่านการเขียนหรือช่องทางอื่นๆ เพื่อทำให้เกิดแบรนด์ตนเอง จึงต้องฝึกสำรวจตนเองผ่านหลักอริยสัจ ๔ ประกอบด้วย  

๑) ทุกข์ ปัญหาของเราคือไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นภาษาเขียนได้    
๒) สมุทัย สาเหตุของปัญหาไม่ค่อยได้ฝึกเขียนอย่างต่อเนื่อง 
๓) นิโรธ เป็นเป้าหมายว่าต้องสามารถเขียนได้ สื่อสารให้คนเข้าใจง่าย  
๔) มรรค วิธีการ กระบวนการ เครื่องมือที่จะสามารถนำไปสู่เป้าหมายคือการเขียนได้หรือ สื่อสารออกมาได้อย่างเข้าใจ   

โดยนิสิตมีการบูรณาการในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการข้อพิพาทในสถานการณ์ปัจจุบัน จะมีการประยุกต์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับพุทธสันติวิธีไปจัดการข้อพิพาทอย่างไร โดยนำหลักอธิกรณสมถะเข้ามาบูรณการ จึงมองว่าพระพุทธเจ้านักไกล่เกลี่ยระดับมืออาชีพ โดยถึงแพ้ในเชิงกลยุทธ์แต่ชนะในเชิงยุทธศาสตร์ โดยมองสถานการณ์ฮิตในปัจจุบัน ประกอบด้วย 

๑) #การจัดการ  เราจะเลือกใช้การจัดการแบบรุนแรง หรือ เลือกใช้แบบสันติวิธี ย่อมมีสิทธิ์เลือกได้ หรือจะจัดการโดยไม่ใช้กฎหมาย เช่น การไกล่เกลี่ย การมีส่วนร่วม การเจรจา ชนะไปด้วยกัน ส่วนการจัดการแบบใช้กฎหมายนั้นเป็นการใช้กระบวนการทางศาล อาจจะมีชนะมีแพ้หรือแพ้ไปด้วยกัน พร้อมทั้งสูญเสีย โทณพรหมณ์ถือว่าเป็นต้นแบบในการจัดการความขัดแย้งระงับสงครามโดยทุกฝ่ายพึงพอใจ การจัดการกับความขัดแย้ง : Approacher to Conflict จึงใช้ ๓ แบบคือ อำนาจ สิทธิ จุดสนใจหรือความต้องการ การจัดการจึงต้องใช้กระบวนการของการCoaching ด้วยการหาClarifying หมายถึงความกระจ่าง อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของภาพหรือความขัดแย้งต้องหาความกระจ่าง การจัดการในทางพระพุทธศาสนาจะต้องจัดการจากภายในก่อนจัดการภายนอก จัดการภายนอกคือด้านกายภาพด้านพฤติภาพ จัดการภายในคือด้านจิตตภาพด้านปัญญาภาพ โดยมุ่งไปสู่ ๓ ติ สติในสตินอก ขันติในขันตินอก และสันติในสันตินอก แต่ย้ำเตือนว่า #อะไรที่เราไม่สามารถจัดการได้จงจัดการใจของเราเอง   

๒) #ความขัดแย้ง  เราต้องมองความขัดแย้งแบบรอบด้วยผ่านกระบวนการของโยนิโสมนสิการ มองแบบวิภัชชวาที มองหลายมุมมอง มองแบบแยกแยะ มองแบบแยกส่วน ระวังการมองความขัดแย้งแบบตาบอดคลำช้าง ให้ถือว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ ธรรมะ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการเอาชนะกันแม้จะสูญเสียความรัก มิตรภาพ สุขภาพ ทรัพย์สิน ความสุขก็ตาม ลักษณะยอมหักไม่ยอมงอ พร้อมจากเป็น ซึ่งหมายถึง ขัดแย้งกันจนไม่คุยกัน แต่พยายามย้ำเตือนตนเองว่า ชีวิตนี้มีค่าเพราะมีเวลาจำกัด เราจึงเหลือเวลาไม่มากพอที่จะไปทะเลาะหรือเบียดเบียนใคร ความขัดแย้งจึงเป็นเชื้อระเบิด สาเหตุความขัดแย้งทางตะวันตกมองว่า คือ ผลประโยชน์ ข้อมูล ความสัมพันธ์ โครงสร้าง ค่านิยม  แต่พระพุทธศาสนามองว่ารากเหง้าของความขัดแย้งคือ โลภ โกรธ หลง ขัดแย้งแบบหลบในจึงน่ากลัวมากกว่า เพราะส่งผลต่อขัดแย้งภายนอก แต่ทุกความขัดแย้งย่อมมีทางออกแบบสันติวิธี เริ่มต้นจากกระบวนการขอโทษอย่างจริงจัง ด้วยการมองให้ยาวมากกว่ามองสั้น เพราะมองสั้นคือจองเวรกันขัดแย้งกัน ส่วนมองมองยาวคือรักษาความสัมพันธ์ จึงต้องป้องกันความขัดแย้งผ่านพุทธสันติวิธีคือ ปธาน ๔ คือ ป้องกันความขัดแย้ง แก้ไขความขัดแย้ง เยียวยาความขัดแย้ง และรักษาสันติสุขเพื่อให้เกิดความยั่งยืน  

๓) #พุทธสันติวิธี   สันติวิธีมี ๒ ความหมาย คือ การต่อสู้เรียกร้องโดยสันติวิธี และ การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี สันติวิธีจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงทางกายทางวาจาทางใจ รวมถึงไม่ล้อเลียนในสิ่งที่บุคคลเคารพ การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีใช้ ได้ ๓  Model คือ C-M บริหารความขัดแย้งและความรุนแรง C-R คลี่คลายความขัดแย้งและความรุนแรง  C-T แปลงเปลี่ยนรากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรง จึงต้องสร้างสันติวัฒนธรรม : Culture of Peace เริ่มจากเคารพทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา การรู้จักให้อภัย  ไม่ใช้ความรุนแรง ในมิติพระพุทธศาสนามองว่าขันติเป็นฐานสันติวัฒนธรรม ด้วยการอนุญาตให้เห็นต่าง การอยู่ร่วมอย่างสันติ  การเคารพในความต่าง และการยอมรับในความแตกต่าง พุทธสันติวิธีจึงเป็นการจัดการความขัดแย้งตามแนวทางของพระพุทธเจ้า พุทธสันติวิธีคือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เช่น สาราณียธรรม อปริหานิยธรรม สังคหวัตถุธรรม สัปปายะ สัปปุริสธรรม อริยมรรค    

๔) #ภิกษุโกสัมพี  ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งแม้แต่สงฆ์เองเกิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน แต่สิ่งที่ท้าทายคือ เราจะป้องกันไม่เห็นเกิดความขัดแย้งขึ้นได้อย่างไร?   เหตุเกิดขึ้นจากพระวินัยธรและพระธรรมกถึก ซึ่งภิกษุทั้งสองฝ่ายเกิดการทะเลาะวิวาทกัน จนนำไปสู่ความเกลียดชัง และความรุนแรง ต่างฝ่ายต่างมีพวกเป็นของตนเอง พระพุทธเจ้าทรงห้ามปราบมีการไกล่เกลี่ยถึง ๓ ครั้ง ตรัสว่า " อย่าเลยภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าขัดแย้ง อย่าวิวาทกันเลย " ทรงยกคำกล่าวว่า " เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร" เราต้องมีความอดทนและความสงบเสงี่ยมประดุจพระราชา แต่ภิกษุก็ยังไม่เชื่อฟังพระพุทธเจ้า 

รากฐานของข้อพิพาทหยั่งรากลึกกลายเป็นทิฏฐิจากเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมีเชื้อเก่าของความขัดแย้ง คือ อคติต่อกัน ยากต่อการแก้ไข ทำให้เกิดมานะซึ่งเกี่ยวกับหน้าตา เกียรติ ศักดิ์ศรี ถือว่าเป็นตัวจักรสำคัญของความขัดแย้งในครั้งนี้ ทำให้พระพุทธเจ้าไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ในเบื้องต้น พระองค์จึงเสด็จเข้าป่าเพื่อปลีกวิเวก ถือว่าเป็นการใช้สันติวิธีในรูปของการเผชิญหน้าเพื่อดำเนินการประนีประนอมนำไปสู่การใช้วิธีการ โน้มน้าวทำให้ล้มเหลวจึงเลือกใช้สันติวิธีในรูปของ #การหลีกหนี หรือ #หลีกเลี่ยง ซึ่งการควบคุมที่ดีที่สุดคือ การไม่ควบคุม พระองค์ใช้กลยุทธ์หลีกเลี่ยงประหนึ่งว่ายอมแพ้แต่จริงๆ แล้วนั้น พระองค์ #แพ้ในเชิงกลยุทธ์แต่ชนะเชิงยุทธศาสตร์ รอเวลารอโอกาสทำให้ภิกษุโกสัมพีพบทางตัน เพราะมีการลงโทษทางสังคมอย่างรุนแรง เรียกว่า จิตวิทยามวลชน เป็นการลงโทษภิกษุโกสัมพีทางอ้อม จนต้องยอมขอโทษพระพุทธองค์ ทำให้พระพุทธเจ้าทรงใช้กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย  จึงเป็นที่มาของการประกาศปฏิญญาชื่อว่า สังฆสามัคคี ท่ามกลางสงฆ์หมู่ใหญ่  ทำให้ข้อพิพาทยุติลงในที่สุด

จึงสอดรับกับหลักธรรม คือ ปธาน ๔ ได้แก่ ๑)สังวรปธาน หมายถึง ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง  ๒)ปหานปธาน  หมายถึง เกิดความขัดแย้งขึ้นมาแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร สลายความขัดแย้งอย่างไร ๓)ภาวนาปธาน หมายถึง สร้างความรัก ความกลมเกลียว ความปรองดองกัน สมานฉันท์กลับคืนมา  ๔)อนุรักขนาปธาน หมายถึง รักษาสันติภาพให้เกิดความยั่งยืน  ซึ่งสอดรับกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ วิเคราะห์คนไทยมีคุณลักษณะ ๓ ประการ จึงได้สร้างชาติมาถึงทุกวันนี้ คือ ๑) ความรักอิสระ ( Love of independence) ซึ่งเมื่อเป็นเมืองขึ้นก็อยู่ได้ไม่นานต้องกู้เอกราช ๒) ความปราศจากวิสิงหา มี (Tolerance) หมายถึง มีความทนต่อความแตกต่าง มีขันติธรรมไม่เบียดเบียนใครไม่ทำร้ายใครเพราะความแตกต่าง  ๓) ฉลาดในการประสานประโยชน์ (Power of assimilation)  ซึ่งอะไรดีของใครเราเอามา อักษรไทยพ่อขุนรามคำแหงเอาส่วนดีของอักษรทมิฬ อักษรขอม มารวมเป็น ก ข เป็นอักษรไทย 

จตุสดมส์ของการศึกษาจึงเป็นไปเพื่อสันติภาพซึ่งมี ๔ ประการ คือ Learning to know เรียนเพื่อให้เกิดความรู้ Learning to do  เรียนเพื่อเกิดทักษะ ประกอบอาชีพได้ Learning to live together เรียนเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ และ Learning to be  เรียนเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  จึงย้ำว่าเราจะไปสร้างสันติให้คนอื่นได้อย่างไร? ถ้าใจเรายังไม่สันติ สันติเราคือ สันติของโลก 

๕) #ศาลสงฆ์ อธิกรณสมถะในฐานะเครื่องมือจัดการความขัดแย้งในหมู่สงฆ์ : พระสงฆ์ในฐานะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและเป็นผู้ถูกอธิกรณ์ : สร้างความไว้วางใจด้วยศรัทธา ซึ่งการศึกษาระดับปริญญาโทจะต้องฝึกกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล เรียกว่า คิดต่างแต่สร้างสรรค์ เวลาเกิดความขัดแย้งในหมู่สงฆ์จะต้องมองให้กว้าง มองรอบด้าน "วิจัยก่อนการวิจารณ์" บางครั้งอธิกรณสมถะอาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะขาดการนำมาใช้อย่างจริงจัง  ซึ่งเป็นธรรมดาของหมู่สงฆ์ ที่เป็นสมมุติสงฆ์ยังเป็นเสขะบุคคลผู้ยังต้องศึกษาอยู่ เป็นธรรมดาที่จะต้องมีความขัดแย้ง เพราะการอยู่ร่วมกันเป็นธรรมดาที่ต้องมี "ปฎิฆะ" โดยมีโทสะ เป็นเหตุทำให้เกิดความเกลียดชัง ประทุษร้าย

นำไปสู่วิวาทะแปลว่า การทะเลาะการถกเถียงกัน อาการที่พูดทำให้แย้งกันและภาวะเป็นเหตุพูดแย้งกัน  ดังนั้น  พระพุทธเจ้าจึงเน้นย้ำเรื่องการสื่อสารในการอยู่ร่วมกันคือ "สัมมาวาจา  วจีสามัคคี ปิยวาจา วจีสุจริต" การสื่อสารจึงนำไปสู่ความขัดแย้ง พระสงฆ์จึงมีสองฐานะ คือ เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและเป็นผู้ถูกอธิกรณ์ ซึ่งคำว่าอธิกรณ์ คือ ข้อขัดแย้งของสงฆ์ ต้องระงับข้อพพิพาทด้วยสงฆ์เท่านั้น เพื่อรักษาความศรัทธาให้ตั้งมั่น พระสงฆ์ในปัจจุบันจึงต้องอยู่ภายใต้ ๔ กฎ คือ "กฎหมายบ้านเมือง กฏหมู่หรือชุมชนสังคมนั้นๆ กฎมหาเถรสมาคมตามพร.บ.สงฆ์ และ กฎพระธรรมวินัย" ตามศัพท์คำว่า อธิกรณ์ มาจากภาษาบาลีว่า สมเถหิ  อธิกรียติ  วูปสมฺมตีติ  อธิกรณํ แปลว่า เรื่องอันเขาระงับได้ด้วยสมถะ  พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า " ปัญหาเกิดที่ไหนต้องให้ปัญหานั้นดับในที่นั้นก่อนที่จะไปที่อื่น "

อธิกรณสมถะ มุ่งเน้นให้สงฆ์จัดการความขัดแย้งของสงฆ์เอง เพื่อความสามัคคีในหมู่สงฆ์ นำมาซึ่งความผาสุกในหมู่สงฆ์ ส่วนฆราวาสเป็นผู้สนับสนุนอุปถัมภ์ให้คำชี้แนะ มิใช่เข้าไปตัดสินเสียเอง เพราะถ้าฆราวาสเข้าไปจัดการถือว่าทำผิดหน้าที่ของตนเอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย วิวาทํ  ภยโต  ทิสฺวาอวิวาทญฺจ  เขมโตสมคฺคา  สขิลา โหถเอสา พุทฺธานุสาสนี แปลความว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัยและความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว เป็นผู้พร้อมเพรียง มีความประนีประนอมกันเถิดนี้เป็นพระพุทธานุศาสนี

ดังนั้น เมื่อเกิดอธิกรณ์หรือคดีความ เป็นข้อขัดแย้งของสงฆ์จึงต้องระงับข้อพิพาทด้วยสงฆ์ เช่น วิวาทาธิกรณ์ การถกเถียงเกี่ยวกับพระธรรมวินัย เป็นต้น โดยใช้สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า และ สติวินัย วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก กรณีภิกษุโกสัมพีพระพุทธเจ้าใช้วิธีการฆ่าทิ้ง คือไม่ว่ากล่าวไม่สั่งสอน จนให้เกิดสำนึกเอง โดยมีขั้นตอนในการจัดการความขัดแย้งกรณีโกสัมพีคือ ๑) แข่งขันเพื่อเอาชนะกัน ๒) หลีกเลี่ยงหรือหลีกหนี  ๓) ยอมตามขอโทษพระพุทธเจ้า  ๔) ประนีประนอมกันปรับความเข้าใจ ๕) ร่วมมือ เป็นสังฆสามัคคี อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จึงแสดงให้เห็นพุทธสันติวิธีในการจัดการความขัดแย้งกรณีภิกษุโกสัมพีรวมถึงเกิดข้อพิพาทระหว่างสองท่านตามข่าวในปัจจุบัน

 

หน้าแรก » การศึกษา