วันเสาร์ ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567 21:05 น.

การศึกษา

“ดร.ทวารัฐ” เผยผลสำเร็จ CMDF จับมือ OKMD และภาคีเครือข่าย บุก ยะลา จัดกิจกรรมกระตุกต่อมคิด ติดอาวุธรู้เท่าทันมิจฉาชีพ

วันอังคาร ที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2567, 13.39 น.

“ดร.ทวารัฐ” เผยผลสำเร็จ CMDF จับมือ OKMD และภาคีเครือข่าย บุก ยะลา จัดกิจกรรมกระตุกต่อมคิด ติดอาวุธความรู้ด้านการเงินการลงทุน ให้เยาวชนชายแดนใต้ เรียนรู้ต่อยอด รู้เท่าทันมิจฉาชีพ

อาจารย์ นักเรียนนักศึกษาขานรับ อยากให้จัดอีก  ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับ กิจกรรมตลาดนัดความรู้ ที่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดขึ้นที่ ศูนย์การเรียนรู้เมืองยะลา ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ภายใต้ โครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเงิน การลงทุนให้แก่เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 13-18 ปี งานนี้มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 944 คน ซึ่งสนุกสนาน และเต็มอิ่มไปด้วยความรู้ตลอดทั้ง 3 วันของการเข้าร่วมกิจกรรม
 
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้คือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางด้านการเงินให้กับเยาวชน ได้สามารถรู้จักการวางแผนทางการเงิน และกลไกรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออม การลงทุน รวมถึงเรื่องของการรู้เท่าทันมิจฉาชีพที่แฝงตัวมา หลอกเอาเงินของเราไปในหลายวิธีการ การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5  และที่เลือก จ.ยะลา เนื่องจากมองเห็นว่า นครยะลา เป็นต้นแบบของเมืองที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ จนได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโก้ให้เป็น “Learning City” หรือเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ และการเติมเต็มเรื่องการเรียนรู้ทางการเงินในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุน จ.ยะลา ซึ่งเป็นเมืองหลักแห่งการงการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในภาคใต้มาตลอด 20 ปี 

“เราตั้งเป้าหมายที่จะกระจายความรู้ สู่พื้นที่ภูมิภาค โดยใช้กิจกรรมเหล่านี้เข้าถึงเยาวชนได้ทั่วถึง และจุดหมายปลายทางคืออยากสร้างแรงบันดาลให้กับน้อง ๆ เยาวชนที่ตั้งใจที่อยากจะมีอิสรภาพทางการเงิน ในอนาคตของตัวเอง คือ มีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย เพียงพอที่จะจุนเจือต่อครอบครัว และเพียงพอที่จะออมและลงทุนอย่างชาญฉลาดเพื่ออนาคตของตัวเอง การจัดกิจกรรมที่ จ.ยะลานี้เป็นครั้งที่ 5 มีเยาวชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้ามองโดยภาพรวมจากการจัดกิจกรรม 5 ครั้งที่ผ่านมาใน 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ลำปาง แม่ฮ่องสอน จันทบุรี และยะลา โดยมีน้อง ๆ  เยาวชนเข้าร่วมมากกว่า  6,000 คน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก” ดร.ทวารัฐ กล่าว 

ด้าน นายวิศาล จิรภาพงพันธ์ รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ในพื้นที่โดย 3 จังหวัด และโดยเฉพาะเทศบาลนครยะลา  เรามีความมุ่งมั่นในเรื่องของการพัฒนาเยาวชน เพราะการพัฒนาคน เราไม่สามารถที่จะพัฒนาในช่วงวัยเด็กแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องพัฒนาคนทุกช่วงว่า โครงการตลาดนัดความรู้สู่ภูมิภาค ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนชายแดนใต้  วันนี้ระดับการศึกษาของคนในพื้นที่มีน้อย ทำให้แก๊งมิจฉาชีพ คอลเซ็นต์เตอร์ มาหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ จนเป็นคดีความอันดับ 1 ของจังหวัด ขอบคุณภาคีเครือข่ายฯ ที่มาให้ความรู้ ติดอาวุธทางความคิดให้กับเยาวชน ซึ่งหวังว่าน้อง ๆ จะนำไปบอกต่อผู้ปกครอง และเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับรู้ 

“วันนี้ การเติมทุน และการวางแผนเรื่องการใช้จ่ายให้กับเยาวชนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จ.ยะลา เป็นพื้นที่ รอยต่อที่ต้องพยายามพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด เทศบาลนครยะลา พยายามร่วมมือกับ ภาคีเครือข่าย การพัฒนาเยาวชนต่อยอด เพิ่มความรู้ ให้กับเด็ก เพราะเชื่อว่า การติดอาวุธทางปัญญา จะนำพาประเทศให้ไปข้างหน้าได้” 
นายวิศาล กล่าว 

สำหรับเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้กระตุกต่อมคิด ฝึกทักษะทางการเงินและการลงทุนให้กับเยาวชนในครั้งนี้ ได้แก่ กิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning จากองค์ความรู้พื้นฐานด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุน ต่อยอดสู่ทักษะการเงินการลงทุนในอนาคต โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัดนิทรรศการในรูปแบบเกม Fantasy Battle ที่พาไปเรียนรู้เรื่อง 3 พลังมหัศจรรย์ คือ 1) เงินต้น 2) อัตราผลตอบแทน 3) ระยะเวลา ผ่านลานประลองศึกที่อัศวินแต่ละกลุ่มสามารถเลือกแต่งคอสเพลย์ โดยใช้เครื่องแต่งกายเป็นตัวแทนของ 3 พลังมหัศจรรย์ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของเงินออม และยังมีกิจกรรม Interactive Workshop ในรูปแบบคาราวานตลาดทุน มีการจัดเวิร์กช็อปที่เน้นการอบรม เชิงปฏิบัติการจำลองโลกของตลาดทุน ผ่าน Mobile Gaming เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ผ่านเกม Invest King จำลองโลกการเงินและการลงทุนเสมือนจริงไว้บนมือถือ ครอบคลุมเนื้อหาใน 8 ประเด็น ได้แก่ 

1) การวางแผนทางการเงินตามวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) 2) การกำหนดเป้าหมายและวางแผนการเงิน 3) รายได้ รายจ่าย และเงินออม 4) อัตราส่วนความอยู่รอดและอัตราส่วนความมั่งคั่ง 5) 3 พลังมหัศจรรย์ (เงินต้น อัตราผลตอบแทน ระยะเวลา) 6) การลงทุน อัตราผลตอบแทน และความเสี่ยง 7) การบริหารหนี้ และพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดหนี้ และ 8) ภัยจากการลงทุนและวิธีรับมือ

นอกจากนี้ยังได้ยกกิจกรรม Knowledge Network Partners  ซึ่งเป็นคาราวานภาคีเครือข่าย มาให้ความรู้ด้านการเงินการลงทุนผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การเสวนาจากภาคีเครือข่าย บอร์ดเกมส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุน กองทุนการออมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธนาคารออมสิน ที่มาถ่ายทอดการจำลองการวางแผนการออมอย่างมีเป้าหมาย แบบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ทั้งการประเมินความรู้และระดับความเสี่ยง เพื่อเลือกแผนการออมที่เหมาะสมกับตนเอง ตัวช่วยวางแผนการออมสู่เป้าหมาย และแหล่งความรู้ด้านเทคนิคการออม และการลงทุน เป็นต้น 

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามนักเรียนที่เข้ารับการอบรมในครั้งนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า ได้ความรู้มากขึ้นและพร้อมที่จะนำไปต่อยอด โดยนางสาวซูนีซะ เนตรเนียมจันทร์ ,นางสาวฟิรดาว วาจิ และนางสาวอัสรีนะ เต๊ะ 3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง 2 พูดไปในทางเดียวกันว่า ก่อนเข้ารับการอบรมมีความรู้เรื่องการออมบ้างจากที่โรงเรียนได้สอน ส่วนเรื่องการลงทุนไม่มีความรู้เลย ซึ่งภายหลังการอบรมทำให้ได้เรียนรู้ถึงการวางแผนการใช้เงิน และการลงทุนในอนาคต ที่มองไว้คือการสร้างธุรกิจค้าขายออนไลน์  นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้ถึงกลโกงของแก๊งคอลเซ็นต์เตอร์ ที่แฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งคนใกล้ชิดก็เคยมีประสบการณ์โดนหลอกลวง สูญเงินไปหลายแสนบาท ซึ่งทั้ง 3 คน จะนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ไปบอกกับผู้ปกครอง และเพื่อนที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ต่อไป 

ขณะที่นางสาวฮุษณา เจ๊ะอามะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาการจัดการ สาขาการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่เคยออมเงินเอง ไม่เคยวางแผนหรือจัดตารางการใช้เงิน มีเท่าไหร่ใช้หมด แต่หลังจากที่ได้รับการอบรม ทำให้ได้เรียนรู้การวางแผนค่าใช้จ่าย ได้รู้ว่าเราจะออมเงินอย่างไรไม่ให้ติดลบ จะใช้จ่ายกับอะไรบ้างเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับเงิน เพื่อทำแผนการออมไว้ในอนาคตหลังเรียนจบ ทำให้ชีวิตเรามีเป้าหมายมากขึ้น 

นางสาวฮุษณา กล่าวด้วยว่า การอบรมที่นำโทรศัพท์มือถือ หรือไอแพด มาใช้เป็นเครื่องมือ ก็มีส่วนในการดึงดูดเยาวชนให้เข้าร่วมกิจกรรมมาก ทำให้เราได้เข้าถึงการเรียนรู้ว่าการลงทุนประเภทไหนที่มีความเสี่ยง และการลงทุนประเภทไหนที่ปลอดภัย โดยวิทยากรได้กำหนดโจทย์ และให้เงินเรามา 2.9 ล้านบาท ตนได้นำเงินไปฝากประจำ 2 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าปลอดภัย และเงินก็ยังอยู่  ลงทุนในคริปโต อนุพันธ์การเงินอื่น หลักพันในแต่ละหน่วยลงทุน เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยง และลงทุนในทองคำ 5 แสนบาท เนื่องจากว่าปลอดภัยรองลงมาจากเงินฝาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงกว่าตรงที่เงินไม่ได้อยู่กับเรา และยังยอมรับด้วยว่า ครอบครัวของตนก็เคยตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสูญเงินจากการดูดเงินในบัญชีไปถึง 50,000 บาท ซึ่งเกิดจากขาดความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันกลโกง ซึ่งหลังจากนี้ตนก็จะไปถ่ายทอดความรู้ให้กับครอบครัว ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง และการได้เงินมาง่ายจำนวนมาก ๆ ไม่มี สู้เราเก็บเงินไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า 

ทางด้าน นางสาวณชิชา นันชนก ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน หนึ่งในวิทยากรที่ให้ความรู้ด้านการออมและการลงทุนในครั้งนี้ เล่าว่า เบื้องต้นต้องทลายกำแพงความเครียดของเด็ก เมื่อรู้ว่าต้องเข้ามาอบรมเรื่องการเงินและการลงทุน  ด้วยเครื่องมือที่นำมาใช้คือ มือถือ และไอแพด ให้ความรู้ที่ถูกต้องการลงทุนในทุกรูปแบบ และให้เด็กตัดสินใจที่จะเลือกวิธีการออมและลงทุน ตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เช่น บางคนไม่ชอบความเสี่ยง ก็จะเลือกออมเงินด้วยการฝากเงินกับธนาคาร หรือ ออมทอง ส่วนคนที่ชอบความเสี่ยงลงทุนได้ผลตอบแทนสูงได้เงินเร็ว เช่น คริปโต และอนุพันธ์ทางการเงินต่าง ๆ เราก็ต้องให้ความรู้เขา เพื่อให้เขาตัดสินใจเอง จากนั้นก็ไปฝึกลงทุน กับภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยส่วนตัวอยากให้มีกิจกรรมในลักษณะนี้มาก ๆ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ด้านการเงินและการลงทุนให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อวางแผนการลงทุนในอนาคต
 

หน้าแรก » การศึกษา