วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:55 น.

การศึกษา

กรมศิลปากรสร้างเครือข่ายอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม ดึงท้องถิ่นร่วมดูแล

วันศุกร์ ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568, 10.15 น.

กรมศิลปากรสร้างเครือข่ายอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม ดึงท้องถิ่นร่วมดูแล

 

 

 

              

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) พระสังฆาธิการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดและอำเภอ และผู้แทนส่วนราชการในเขตพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู และสกลนคร เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี

 

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่รุ่มรวยด้วยมรดกวัฒนธรรม โบราณสถาน ในประเทศไทยมีจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง กรมศิลปากรจึงมีแนวนโยบายส่งเสริมให้ประชาชน องค์กรภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมร่วมกัน เข้ามาเป็นเครือข่ายและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางและมาตรฐานในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมด้านโบราณสถาน ศิลปกรรมในเขตโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตลอดจนมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น เอกสารโบราณ จดหมายเหตุ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในคุณลักษณะ คุณค่าและความสำคัญของมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีต่อชาติและท้องถิ่น รวมถึงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หน้าที่และความรับผิดชอบของกรมศิลปากร สร้างความตระหนักในบทบาทหน้าที่เครือข่ายมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่มีต่อการดำเนินงานร่วมกันและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น  

 

การอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ณ จังหวัดอุดรธานี ในครั้งนี้นอกจากจะมีการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังมีการศึกษาดูงานโบราณสถานในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และเข้าร่วมกิจกรรมฉลองมรดกโลกภูพระบาท ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีแหล่งมรดกโลก 2 แห่งในจังหวัดเดียว คือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียงขึ้น เพื่อเป็นสถานที่รวบรวม จัดเก็บโบราณวัตถุในวัฒนธรรมบ้านเชียงและโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยวัฒนธรรมบ้านเชียงในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน และอุทยานประวัติภูพระบาทที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อปีที่ผ่านมา

 

 

 

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้มอบนโยบายให้กรมศิลปากรเสริมสร้างระบบนิเวศและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม ยกระดับการบริการของพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ ส่งเสริมและสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจ การจัดอบรมในครั้งนี้ จะเน้นให้ความรู้ในเรื่องของการดูแลรักษาสิม (อุโบสถ) ในภาคอีสาน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรม สะท้อนภูมิปัญญา  และวิถีชีวิตของผู้คนในภาคอีสานในอดีต และบางแห่งยังมีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรจึงมีแผนที่จะบูรณะให้ได้มากที่สุด และจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสายบุญ นอกจากเป็นการรักษามรดกวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างไว้ไม่ให้สูญหายแล้ว ยังยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเป็น SoftPower ประการหนึ่งของชาติ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตลอดจนภาคเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และระดับประเทศ และยังเป็นการสร้างอนาคตให้กับลูกหลานต่อไป”

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com    และ  bat_mamsao@yahoo.com

 

 

หน้าแรก » การศึกษา