วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 06:53 น.

การศึกษา

นักวิชาการ มธ. ทวงสิทธิให้ ‘ไรเดอร์’ควรเป็น ‘ลูกจ้าง ม.33’ มากกว่า ‘แรงงานนอกระบบ’

วันจันทร์ ที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 12.46 น.

นักวิชาการ มธ. ทวงสิทธิให้ ‘ไรเดอร์’ควรเป็น ‘ลูกจ้าง ม.33’ มากกว่า ‘แรงงานนอกระบบ’

 

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ซัดเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ กั้นขวางไม่ให้ ‘ไรเดอร์’ ได้รับสวัสดิการ ผลักคนกลุ่มนี้ออกนอกระบบ ทั้งที่เขาต้องทำงานเหมือนลูกจ้างในบริษัท-มีระเบียบ-มียูนิฟอร์มของบริษัท-มีบทลงโทษ แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเหมือนลูกจ้าง เสี่ยงอุบัติเหตุแต่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ

 

ผศ. ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และอนุกรรมการพัฒนาระบบประกันสังคมมาตรา 40 เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. เป็นกฎหมายที่มีความพยายามร่างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 และดำเนินการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างกว้างขวางจากขบวนการแรงงาน และมีการยื่นหนังสือต่อ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2568 เพื่อแสดงการคัดค้าน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการแบ่งแยกแรงงานอิสระออกมาจากแรงงานในระบบปกติ ผ่านการแยกย่อยคำนิยามแรงงานอิสระออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่มีนายจ้าง เช่น เกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดิน หาบเร่แผงลอย คนขับวินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ 2. ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ เช่น พนักงานขับรถไรเดอร์ (Rider) พนักงานทำความสะอาดหรือแม่บ้าน ที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งในกฎหมายเรียกว่าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

 

สำหรับสิ่งที่ทางสหภาพไรเดอร์เรียกร้องมาโดยตลอด คือไรเดอร์ควรจะมีสถานะเป็นลูกจ้าง มากกว่าที่จะเป็นแรงงานอิสระ ซึ่งต้องสามารถเข้าถึงสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการคุ้มครองต่างๆ ได้เหมือนกับแรงงานในระบบปกติ เพราะลักษณะการทำงานที่มีการบังคับบัญชาผ่านนโยบายจากเจ้าของแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ให้มีการสแกนใบหน้า กำหนดให้สวมชุดยูนิฟอร์มของบริษัท มีบทลงโทษให้พักงาน กรณีที่ปฏิเสธการรับงาน กฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้

 

“ในส่วนของผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ จุดนี้ถือว่าเป็นการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เพราะหากพิจารณาตามชื่อก็จะเห็นชัดว่าไม่ได้มีความอิสระอย่างแท้จริง ยังคงมีสภาพหรือสถานะการจ้างอยู่แบบกึ่งอิสระอยู่ เหตุใดแรงงานกลุ่มนี้จึงถูกควบรวมอยู่ในคำนิยามแรงงานอิสระ” ผศ. ดร.กฤษฎา กล่าว

 

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทั้งที่รัฐจะช่วยสนับสนุนและให้สวัสดิการคนทำอาชีพกึ่งอิสระ ซึ่งทำงานเหมือนกับลูกจ้างบริษัท แต่จากการนิยามในร่างกฎหมายฉบับนี้เหมือนเป็นการผลักพวกเขาออกไปจากระบบ ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการ ความคุ้มครอง ที่บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลควรต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ

 

“การทำงานของไรเดอร์เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เพราะต้องสัญจรใช้รถบนท้องถนน บริษัทกลับไม่ต้องดูแลอะไรพวกเขาเลย เพราะเป็นแรงงานอิสระ ไม่มีประกันอุบัติเหตุ ไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม ไม่สนับสนุนอุปกรณ์ความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อเจ็บป่วยจากการทำงานก็ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นต้นทุนทางงบประมาณของภาครัฐที่มาจากภาษีของประชาชน แทนที่จะเป็นเงินของบริษัท  ทุกวันนี้หน่วยงานราชการได้พยายามเข้าไปรณรงค์กับบริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลให้นำพนักงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงรากฐานปัญหา อันมีที่มาจากการติดกระดุมเม็ดแรก เรื่องการนิยามที่ผิด ทำให้ระบบที่ตามมาหลังจากนั้นผิดไปทั้งหมด เพราะหากว่ากันตามนิยามพนักงานเหล่านี้ควรมีสถานะเป็นลูกจ้างในระบบ และควรมีสิทธิประกันสังคมตาม มาตรา 33 ด้วยซ้ำไป”

 

ผศ. ดร.กฤษฎา ยังกล่าวด้วยว่า การนิยามแรงงานอิสระที่แบ่งย่อยออกเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ และกึ่งอิสระเช่นนี้ สะท้อนถึงวิธีคิดแบบราชการที่ต้องการแบ่งแยกให้ชัดเจนโดยไม่เข้าใจรูปแบบหรือวิธีการทำงานใหม่ๆ ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งแรงงานหนึ่งคนไม่ได้ทำงานหนึ่งงานแบบที่เคยเข้าใจอีกต่อไป ยกตัวอย่างและมีคำถามง่ายๆ ว่า หากมีคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือคนขับแท็กซี่ ที่รับงานด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็เป็นไรเดอร์ รับงานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ต่างๆ ไปด้วย คนเหล่านี้ควรลงทะเบียนอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือกึ่งอิสระกันแน่

 

“ดังนั้น ควรจะต้องกลับไปเริ่มต้นพิจารณา และจำแนกคำนิยามและสถานะต่างๆ ของแรงงานให้มีความชัดเจน ว่าแบบใด คือ แรงงานอิสระ แบบไหนคือแรงงานในระบบ รวมถึงความก้ำกึ่งของผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระที่ยังคงมีรายละเอียดให้ต้องถกเถียงกันอีกมาก ก่อนที่จะไปพูดถึงการแก้ไขรายมาตรา หรือออกแบบกลไกและระบบต่างๆ ที่มีอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ควรจะต้องตั้งต้นจากกระดุมเม็ดแรกให้ชัดเจนเสียก่อน ไม่เช่นนั้น สิ่งต่างๆที่จะตามมา จะอยู่ในภาวะผิดฝาผิดตัวทั้งหมด” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com    และ  bat_mamsao@yahoo.com

 

หน้าแรก » การศึกษา