วันจันทร์ ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:18 น.

การศึกษา

“สุชาดา” เลขาฯ รมว.อว.ชี้ กระทรวง อว. พร้อมพัฒนาการทูตวิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี บริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน-เท่าเทียม

วันพฤหัสบดี ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568, 15.46 น.

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2568 (ตามเวลาท้องถิ่น) น.ส.สุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม Global Science Ministerial Dialogue on Science Diplomacy ระหว่างวันที่ 25–26 มีนาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกยูเนสโกเข้าร่วมประชุม
 
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการใช้การทูตทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสร้างสันติภาพท่ามกลางบริบทโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

น.ส.สุชาดา ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมดังกล่าว ว่า ประเทศไทยตระหนักว่าการทูตทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมเสถียรภาพระดับภูมิภาคและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และแรงกดดันต่อทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน โดยมีความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และการกำหนดนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงาน ซึ่งไทยมีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับบทบาทของการทูตทางวิทยาศาสตร์ในการส่งเสริมความร่วมมือ ผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดน ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 

เลขานุการ รมว.อว. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังได้เสนอให้ยูเนสโกเสริมสร้างกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีในหลายๆ เรื่อง ประกอบด้วย การอำนวยความสะดวกในการเป็นหุ้นส่วนระหว่างสถาบันวิจัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและขับเคลื่อนด้วย AI การพัฒนาแนวทางภายใต้การนำของยูเนสโกสำหรับข้อตกลงการแบ่งปันเทคโนโลยีที่เป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างทางวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมความร่วมมือแบบใต้-ใต้ (South-South) และความร่วมมือแบบไตรภาคี (Triangular Cooperation) เพื่อขยายขนาดของนวัตกรรมระดับภูมิภาคและแนวทางแก้ไขปัญหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงระดับรัฐมนตรี (Ministerial Statement) ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่าง “วิทยาศาสตร์” กับ “การทูต” ส่งเสริมหลักการของ “วิทยาศาสตร์แบบเปิด” (Open Science) และการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมของทุกภาคส่วน พัฒนากลยุทธ์และกรอบการดำเนินงานด้านการทูตทางวิทยาศาสตร์ในระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ และเสริมสร้างสมรรถนะเชิงสถาบันและทรัพยากรมนุษย์ด้านการทูตทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการฝึกอบรม การแบ่งปันองค์ความรู้ และการเรียนรู้ร่วมกัน

“บทบาทของประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกระทรวง อว. ในการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์เป็น “สะพาน” เชื่อมโยงความร่วมมือระดับภูมิภาค และพัฒนาการทูตทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดการเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนอย่างเท่าเทียมกัน และยินดีที่จะได้ร่วมมือกับยูเนสโกและพันธมิตรระดับโลกเพื่อสร้างอนาคตที่การทูตทางวิทยาศาสตร์ช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจ ความยั่งยืน และสันติภาพ” น.ส.สุชาดา กล่าว 

หน้าแรก » การศึกษา