วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 08:10 น.

การศึกษา

กสศ. ชู เปิดเทอมใหม่ เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา สานต่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

วันอังคาร ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.32 น.

กสศ. ชู เปิดเทอมใหม่ เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา สานต่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ตั้งเป้าใช้การศึกษายืดหยุ่นช่วยเด็กกลับมาเรียนไม่น้อยกว่า 5.5หมื่นคน ในปีการศึกษา2568                                 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เปิดเรียนครั้งนี้ มีเด็กและเยาวชน ที่หลุดจากระบบการศึกษา และไม่สามารถกลับเข้าสู่การเรียนในระบบโรงเรียนได้ เพราะปัญหาที่มีความซับซ้อน เช่น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเดินทาง  และข้อจำกัดในชีวิตอื่นๆ  ราว 1,000 คน สามารถกลับมาเรียนด้วยแนวทางการจัดการศึกษายืดหยุ่น เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา  ผ่านโครงการโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School ที่ กสศ. ร่วมมือ สพฐ. และเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 รูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต ภายใต้แนวคิดนำการเรียนไปให้น้องตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่ร่วมมือกับกสศ.   เพื่อสานต่อมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ตั้งเป้า ใช้การศึกษายืดหยุ่นช่วยเด็กกลับมาเรียนไม่น้อยกว่า 5.5 หมื่นคน ในปีการศึกษา 2568 นี้
                                 
นายพัฒนะพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา กว่า 8.8 แสนคน เป็นตัวเลขที่ลดจากปีการศึกษา 2567 ที่มีอยู่ราว 1.02 ล้านคน ข้อค้นพบจากการทำงานช่วยเหลือน้องๆ คือ ระบบการศึกษาและการเรียนรู้ต้องปรับให้ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต และปากท้อง ปัจจุบันเรามีตาข่ายการศึกษาที่ช่วยโอบอุ้มรับเด็กๆ ในทุกข้อจำกัดไว้ ตั้งแต่โรงเรียน ที่ปัจจุบันมีนวัตกรรม 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ  สกร.(กรมส่งเสริมการเรียนรู้) และศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ที่จัดการศึกษาเหมือนกับสกร. แต่ต่างกันที่ผู้จัดการศึกษาไม่ใช่รัฐแต่เป็นสถาบันทางสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร อยู่ภายใต้สังกัด สพฐ. เป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับผู้เรียนรายบุคคล และบริบทชุมชน มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาและสถานที่  ที่สำคัญคือทุกคนเป็นครูของผู้เรียนได้ (มาตรา 53พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542) 
                                    
ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เปิดเทอมใหม่ เรียนได้ทุกที่ มีรายได้ มีวุฒิการศึกษา คือ การผู้เรียนไม่ได้เรียนที่โรงเรียน แต่เรียนรู้ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ทักษะวิชาการและประสบการณ์ต่างๆ จากแหล่งเรียนรู้อื่น ตามความถนัด ความสนใจของแต่ละคน และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่น้องๆ อาศัยอยู่  เช่น ฟาร์มเกษตร  นาข้าว ผืนป่า สวนผัก สวนผลไม้  ตลาด ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านตัดผม วงดนตรีหมอลำ หรือแม้แต่ผู้เรียนที่มีข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ ก็สามารถออกแบบวิธีการเรียนให้น้องๆ สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเองได้  โดยคุณครูจากศูนย์การเรียนฯ จะวางแผนการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับนักวิชาชีพต่างๆ ที่เป็นเจ้าของความรู้ในอาชีพนั้นๆ ไม่ว่าจะพ่อแม่ ปราชญ์ชุมชน กลุ่มแม่บ้าน ผู้นำชุมชน อบต. ท้องถิ่น นักวิชาชีพ ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจเอกชน ฯลฯ  มีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ร่วมกับหน่วยงาน องค์กร นักวิชาชีพต่างๆ ที่ร่วมจัดการศึกษา  ที่สำคัญน้องๆ จะมีรายได้จากการได้ลงมือทำงานจริงในเส้นทางเรียนรู้รูปแบบนี้ด้วย    
                                 
“ ในปีการศึกษา 2568 กสศ. ได้รับความร่วมมือจากหุ้นส่วนการศึกษาทั้ง ชุมชนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ร่วมจัดการศึกษาและการเรียนรู้ ให้แก่น้องๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นร้านไก่ทอด KFC  สำนักข่าวออนไลน์ The Reporters  New Gen Entertainment หมอลำไอดอล   แพลตฟอร์มShopee ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือ Sea Thailand ฟาร์มไก่โคราช พลูโตฟาร์ม สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิทจำกัด สวนทุเรียนแปลงใหญ่ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ“  
                                  
นางสาววรัญญาภรณ์ วันทา หรือ “น้องฮักแพง” อายุ 18 ปี กำลังเรียนชั้นม.ปลาย หลักสูตรหมอลำศึกษา ศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ เครือข่ายการศึกษายืดหยุ่น กสศ. เล่าว่า ปัจจุบันตนทำงานในตำแหน่งศิลปินผู้แสดง โจทย์เรียนรู้ที่ได้รับจึงปรับจาก ‘หน้าที่’ หรือ‘มุมมองเฉพาะ’ ตามบทบาท สู่การคิดที่เชื่อมโยงมากขึ้น เช่น เรียนวิชาคณิตศาสตร์จากการหาพื้นที่ หรือสัดส่วนความกว้างยาวของเวที หรือเรื่องการแสดงก็จะโยงกับวิชาสังคมศึกษา วัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งสืบค้นไปได้ถึงรากวิถีชีวิตของคนในแถบภาคอีสาน           

“การติดตามบทเรียนต่าง ๆ แทบไม่ต่างจากการเรียนในห้องเลยค่ะ แค่วิธีนี้เราใช้ออนไลน์เป็นหลักและมีเวลาเรียนที่ไม่ตายตัวเท่านั้น ข้อดีของวิธีการนี้คือเราได้รับคำแนะนำจากครูได้ทันที และเป็นคำแนะนำรายคนที่ทำให้เห็นความก้าวหน้าหรือจุดบกพร่องของตัวเองทุกสัปดาห์ ไม่ต้องรอให้ถึงช่วงสอบและวัดผลทีเดียวนอกเหนือจากบทเรียน การที่ครูจัดกิจกรรมกลุ่มเป็นบางช่วง ยัง ‘ช่วยเรื่องความรู้สึก’ ว่าตนได้กลับสู่ safe zone ของ ‘ระบบการศึกษา’ อีกครั้ง“  
                                 
นายคติกร ทองนรินทร์ หรือ “เนส” นักเรียนโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile school ศูนย์การเรียนซีวายเอฟ อบต.หนองสนิท จ.สุรินทร์ เครือข่ายการศึกษายืดหยุ่น กสศ. เล่าว่า งานหลักของผมคือ เป็นช่างตัดผม การเรียนแต่ละครั้ง จะมีการตั้งหัวข้อ ตั้งโจทย์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับ 8 กลุ่มสาระวิชาหลักของ สพฐ. เพื่อให้สามารถนำไปวัดประเมินผลลัพธ์ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ก็จะมีการตั้งโจทย์ ให้ผมลองทำบัญชี รายรับรายจ่าย ของร้านตัดผม คำนวณต้นทุน ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเปิดร้าน วิชาศิลปะ ก็จะให้โจทย์เรื่องการออกแบบทรงผม ตามความต้องการของลูกค้า 
                          
“Mobile school ช่วยให้ผมมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดขึ้น ช่วยสานฝันในการเป็นช่วงตัดผมประจำหมู่บ้านให้เป็นจริง เปลี่ยนชีวิตผมจากเด็กเกเรที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำให้เรามีความรับผิดชอบขึ้นในหน้าที่การเรียนและการทำงาน“
                                  
ทั้งนี้กสศ.ได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณารณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิดการศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตอีกด้วย สำหรับท้องถิ่น ชุมชน หรือ ภาคเอกชนสนใจร่วมเป็นเครือข่ายการศึกษายืดหยุ่น เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่เด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา สามารถติดต่อกสศ.ได้ที่ โทร. 02 -079 5475 ต่อ 0   

สำหรับโรงเรียนเคลื่อนที่ Mobile School  กสศ.และศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม  ยังเปิดรับสมัครเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 7 -24 ปี จากทั่วประเทศ ที่หลุดจากระบบการศึกษา และไม่สามารถเรียนในโรงเรียนหรือสถานศึกษารูปแบบอื่นได้  เรียนต่อตั้งแต่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถติดต่อทุกวัน ไม่มีวันหยุด สอบถามได้ที่  โทร. 02 -079 5475 ต่อ 0   หรือ www.eef.or.th และ เพจเฟซบุ๊ก กสศ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
 

หน้าแรก » การศึกษา

ข่าวในหมวดการศึกษา