วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 17:04 น.

การเมือง

14ม.ค.! ศบค.เผยผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 271ราย เสียชีวิติ 2 ราย

วันพฤหัสบดี ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564, 11.43 น.

วันที่ 14 ม.ค.2564  ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 271 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 78 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 181 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ประกอบด้วย ปากีสถาน 2 ราย ฮังการี 1 ราย สหราชอาณาจักร 2 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย รัสเซีย 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย แคนาดา 1 ราย เยอรมนี 1 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศไม่เข้าสถานกักกัน จากมาเลเซีย 1 ราย 
          
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 11,262 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 5,863 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 3,187 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,212 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 7,660 ราย เพิ่มขึ้น 717 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 69 ราย

ผู้เสียชีวิตรายที่ 68 เป็นชาย 71 ปี สัญชาติอังกฤษ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไทรอยด์ มะเร็งปอด 5 ธ.ค. 63 ถึงไทย เดินทางมาจากอังกฤษ เข้า ASQ 11 ธ.ค. 63 มีอาการไข้ ไอ เข้ารับการรักษา หลังจากนั้นก็มีอาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิต 13 ม.ค. 64
          
รายที่ 69 ชายไทยอายุ 53 ปี อาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัวเบาหวาน ได้เดินทางไปจันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ด้วยรถยนต์ส่วนตัว 3 ม.ค. มีไข้ ปวดหัว ไอ มีเสมหะ 5 ม.ค. 63 เข้าโรงพยาบาลในนนทบุรี ตรวจพบโควิด 10 ม.ค. 64 อาการทรุดอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา


          
กลุ่มจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไปพื้นที่เสี่ยงมากสุด มีสมุทรสาคร 36 ราย มีอายุต่ำสุด 2 ปี (สัญชาติไทย 21 ราย เมียนมา 15 ราย) กรุงเทพมหานคร 14 ราย อายุต่ำสุด 12 ปี (สัญชาติไทย 10 ราย เมียนมา 3 ราย และอินเดีย 1 ราย) ส่วนวันนี้จังหวัดประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม ยังอยู่ที่ 60 จังหวัด โดยใน 60 จังหวัด มี 10 จังหวัด ที่มีผู้ป่วยสะสม 50 ราย 12 จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสม 11-50 ราย 38 จังหวัด ที่มีผู้ป่วยสะสม 1-10 ราย และอีก 17 จังหวัด ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
          
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 92,767,845 ราย อาการรุนแรง 110,695 ราย รักษาหายแล้ว 66,288,019 ราย เสียชีวิต 1,986,696 ราย
          
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด
          1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 23,616,345 ราย
          2. อินเดีย จำนวน 10,512,831 ราย
          3. บราซิล จำนวน 8,257,459 ราย
          4. รัสเซีย จำนวน 3,471,053 ราย
          5. สหราชอาณาจักร จำนวน 3,211,576 ราย
          ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 128 จำนวน 11,262 ราย

เปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด"กทม."เพิ่ม 19 ราย รวมระลอกใหม่สะสม 512 ราย

ขณะที่ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมืองโฆษกกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang" ระบุว่า ศบค.แถลง พบผู้ติดเชื้อใน กทม. ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 63 - 13 ม.ค. 64 รวม 512 ราย
          
จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อถึงวันที่ 12 ม.ค. 64 (488 ราย) เป็นคนต่างจังหวัดที่ Admit รพ.ในพื้นที่ กทม. 125 ราย และเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. 363 ราย

การติดเชื้อในประเทศ ส่วนใหญ่มาจากการมีประวัติเชื่อมโยงกับ จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.จันทบุรี สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ การไปสถานบันเทิง และการตรวจเชิงรุกในตลาด
          
Timeline แถลงไปแล้ว 323 ราย และ
          
วันนี้ มี Timeline ผู้ติดเชื้อที่อยู่ใน กทม. ซึ่งได้สอบสวนโรคเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพิ่มอีก 19 ราย
          
Time line 24 ราย มีรายละเอียดตามรูปด้านล่าง
          
สำหรับการแจ้งข้อมูลการสอบสวนโรค จะรายงานข้อมูลที่ไม่พาดพึงถึงบุคคล ก่อนที่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้เป็นตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 10
          
สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
          
หากสงสัยหรือกังวลว่า ติด COVID-19 ประเมินความเสี่ยง ที่ http://bkkcovid19.bangkok.go.th/
          
หรือจะโทร.สายด่วน สำนักอนามัย 02-203-2393 และ 02-203-2396
          
ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ของ กทม. ได้ที่ช่องทางหลักจาก Fan page Facebook : กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานการประชาสัมพันธ์ https://www.facebook.com/prbangkok
 

ชาวแคลิฟอร์เนีย ทยอยรับวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์วัคซีนในดิสนีย์แลนด์

ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดขนาดใหญ่ (Super Point-of-Dispensing) ในดิสนีย์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย เปิดให้ชาวอเมริกันที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและเจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ เข้ารับวัคซีนเข็มแรกในวันพุธ (13 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในส่วนรีสอร์ทอนาไฮม์ ผู้ที่เข้ารับวัคซีนจะได้รับการนัดหมายล่วงหน้าผ่านทางออนไลน์
          
เมื่อวันจันทร์ (11 ม.ค.) ทางการรัฐแคลิฟอร์เนียได้เปิดตัวโครงการที่กำหนดให้ดิสนีย์แลนด์ สวนสนุกระดับโลกที่ต้องปิดทำการมาประมาณ 10 เดือน เป็น 1 ในสถานที่ 5 แห่งของรัฐที่จะเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนโควิดขนาดใหญ่ เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทางและสถานที่กว้างขวาง แต่โครงการนี้มีขึ้นหลังจากที่แคลิฟอร์เนียถูกวิจารณ์ว่าดำเนินโครงการวัคซีนล่าช้า ขณะที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากกว่า 2,700,000 คนและมีผู้เสียชีวิตแล้ว 30,000 ราย แม้ว่าจะมีการบังคับใช้มาตรการข้อจำกัดหลายด้านทั้งการให้ประชาชนอยู่บ้าน และให้ธุรกิจห้างร้านหลายประเภทต้องหยุดทำการตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม

อย.ยันต้องยื่นใช้วัคซีนโควิดแม้สอบผ่านในตปท.แต่ปรับใช้ขั้นตอน fast track

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่หลายฝ่ายสงสัยเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานด้านอาหารและยาของต่างประเทศยังต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. ไทยว่า การที่ต้องมาขึ้นทะเบียนที่ อย. อีกครั้ง เพื่อให้ทราบว่าผู้รับอนุญาตนำเข้าวัคซีนโควิด-19 คือใคร และสามารถติดตามตรวจสอบได้หากวัคซีนนั้นมีปัญหาเชิงคุณภาพหรือความปลอดภัย
          
ทั้งนี้ ผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบต่อวัคซีนของตน เนื่องจากวัคซีนอาจเกิดผลข้างเคียงหลังจากการฉีดได้ ดังนั้น ในการขึ้นทะเบียนจึงกำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องนำเสนอข้อมูลความปลอดภัย แผนการใช้ และการแก้ปัญหาเมื่อเกิดผลข้างเคียงใด ๆ ขึ้น โดยต้องมีเอกสารชี้แจงรายละเอียดมายืนยันพร้อมการขึ้นทะเบียนกับ อย.
           
สำหรับวัคซีนทุกรายการที่มาขึ้นทะเบียน อย. จะมีการประเมินด้านความปลอดภัย คุณภาพและประสิทธิผลของวัคซีนจากผู้เชี่ยวชาญ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับคนไทย ซึ่งการประเมินด้านความปลอดภัยจะพิจารณาผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง และความปลอดภัยในคน เช่น ขนาดโดสที่ใช้ ระยะเวลาการให้วัคซีน ด้านคุณภาพ จะครอบคลุมทั้งการควบคุมคุณภาพการผลิตตัวยาสำคัญของวัคซีน กระบวนการผลิตวัคซีน การตรวจประเมินสถานที่ผลิตวัคซีนตามมาตรฐาน GMP ซึ่งทุกขั้นตอนต้องมีการประกันคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ และด้านประสิทธิผลของวัคซีน ต้องผ่านการวิจัยในคน มีการติดตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในคนที่ร่างกายแข็งแรง คนที่มีโรคแทรกซ้อน หรือกลุ่มเฉพาะ เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือคนชรา ตลอดจนแผนการจัดการความเสี่ยงของวัคซีน สำหรับเรื่องราคาวัคซีน อย. ไม่ได้เป็นผู้กำหนด
           
ปัจจุบันมีบริษัทมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับ อย. จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ระหว่างการพิจารณาประเมินข้อมูลคาดว่าจะสามารถอนุมัติในเร็ว ๆ นี้ และวัคซีนของบริษัท ซิโนแวก ไบโอเทค โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน
          
ส่วนวัคซีนอื่น ๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานด้านอาหารและยาของต่างประเทศแล้ว ยังไม่มีการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย. แต่อย่างใด ทั้งนี้ หากบริษัทที่เป็นเจ้าของวัคซีนหรือตัวแทนไม่มายื่นขึ้นทะเบียนกับ อย. ด้วยตนเอง  อย. ไม่สามารถนำข้อมูลวิชาการต่าง ๆ ของวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากต่างประเทศมาดำเนินการขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นของบริษัทและเป็นความลับทางการค้าที่ไม่เปิดเผย
          
ด้านแหล่งข่าวจาก อย. เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นเป็นไปตามมาตรฐานการพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนทั่วไป แต่เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการนำมาควบคุมการแพร่ระบาด อย.จึงปรับกระบวนการพิจารณาใหม่ใช้ช่องทางพิเศษ (fast track) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถานพยาบาลและนักวิชาการทั่วประเทศมาร่วมเป็นคณะทำงานพิจารณา เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว แต่ยังพิจารณาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานที่ทั่วโลกกำหนดไว้ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดมาตรการวัคซีนต้องป้องกันโรคได้ 50% ขึ้นไป
          
 

หน้าแรก » การเมือง