วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 05:41 น.

การเมือง

"บิ๊กตู่"โพสต์ผลคุย 80 ซีอีโอชั้นนำ เห็นตรงกันเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วยิ่งขึ้น

วันพุธ ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 20.21 น.

สภาหอการค้า - 40 ซีอีโอ" เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหาโควิด   พร้อมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม ได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว Prayut Chan-o-cha ว่า "วันนี้ ผมได้จัดประชุมทาง VDO Conference กับสภาหอการค้าไทย และซีอีโอชั้นนำของประเทศไทยกว่า 80 ท่าน เป็นตัวแทนจากภาคเอกชน เป็นการประชุมที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผมและทีมงานทุกคน และที่มากไปกว่ามุมมองและคำแนะนำอันมีค่าจากทุกท่าน สิ่งที่ผมได้รับจากการประชุมวันนี้ ตอกย้ำความเชื่อของผมที่ว่า ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยของเรา คือความปรารถนาดีในการขับเคลื่อนประเทศ และ ความรู้ความสามารถของท่านผู้นำองค์กรและธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย เราต้องใช้ทรัพยากรอันมีค่านี้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศ นี่คือเส้นทางที่สำคัญที่สุดของเราในการเดินหน้าประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

วันนี้ภารกิจที่สำคัญที่สุดของเรา คือเราต้องรีบทุ่มเททุกอย่าง เพื่อจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศให้ได้ โดยเร่งเรื่องการได้รับและการฉีดวัคซีนให้เร็วยิ่งขึ้น และผมก็เห็นด้วยว่า ในขณะเดียวกัน เราควรต้องใช้เวลาช่วงนี้ให้ดีด้วย วางแผนและวางแนวทางให้ชัดเจน เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่เราหลุดพ้นจากวิกฤตโควิดได้แล้ว ประเทศไทยของเราจะไม่ใช่แค่ฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้โดยเร็วที่สุดเท่านั้น แต่ประเทศไทยควรจะต้องดียิ่งขึ้นกว่าเดิม รัฐบาล เอกชน และทุกภาคส่วน ปรับการทำงานรูปแบบใหม่ๆ และปรับตัวทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ที่สอดรับกับโลกยุคใหม่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการคว้าโอกาสต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ได้กรุณาสละเวลาอันมีค่า เข้าร่วมระดมสมองในวันนี้ครับ"

สภาหอการค้า - 40 ซีอีโอ" เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหาโควิด 

ทั้งนี้ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ 40 ซีอีโอ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร็นซ์
          
โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ขอบคุณเอกชนที่มาร่วมหารือเพื่อช่วยกันบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมารัฐบาลและเอกชนได้พูดคุยกันต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจที่โควิดแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น และเดินหน้าแก้ไขปัญหา ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนที่มีการฉีดวัคซีนไปกว่า 14 ล้านโดส  กำหนดมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยา การสนับสนุนให้เข้าถึงสินเชื้อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ  มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่มียอดการใช้จ่ายแล้วกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท
          
รวมถึงโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และโครงการสมุยพลัสโมเดล เพื่อช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การท่องเที่ยว
          
ที่ผ่านมาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนเที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลมาตลอด ข้อเสนอแนะที่ทำได้ รัฐบาลดำเนินการทันที ในส่วนที่เป็นอุปสรรค รัฐบาลพยายามเร่งแก้ไขให้ ทั้งนี้ทุกมาตรการต้องเป็นตามกฎหมายและหลักการงบประมาณ เพราะเงินที่รัฐบาลที่นำมาใช้จ่ายมาจากภาษีของประชาชน
          
นายกฯ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับสูง ต้องลดความขัดแย้ง ช่วยกันสร้างการรับรู้ เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพราะทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การช่วยกันหาทางออกให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน
          
ทั้งนี้ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวในนาม 40 ซีอีโอ ขอขอบคุณนายกฯ และคณะที่ได้จัดสรรเวลาเชิญ 40 ซีอีโอมาหารือร่วมกันหาในวันนี้  ซึ่งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้เตรียมข้อสนอต่อรัฐบาลไว้ 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย
          
1. การควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชนที่ร่วมกับกทม. สามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล โดยมีศักยภาพสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 80,000 คน/วัน  ซึ่งเอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการจัดอุปกรณ์การแพทย์ ทั้ง Rapid Tests ยารักษา เตียงผู้ป่วยหนักและ ICU  รวมทั้งมาตรการ Isolation   โดยเทคโนโลยีดิจิทัล และจัด Platform ต่างๆ ซึ่งTeleMed ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ลดจำนวนผู้ป่วยได้
          
2. การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เสนอให้มีการขยายมาตรการช่วยเหลือทั้งกิจการที่ต้องหยุดประกอบตามคำสั่งของราชการ รวมทั้งธุรกิจในห่วงโซ่ต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
          
3. การกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนระยะสั้น-ระยะกลาง กระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้และกำลังซื้อสูง กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy
          
4. การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน ขับเคลื่อนกิจกรรมที่มี Impact สูงและประชาชนไทยได้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจด้วย Digital Transformation โดยข้อเสนอทั้ง 4 ข้อเป็นการฟื้นฟูประเทศ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส
          
ขณะเดียวกันประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังแสดงความเข้าใจดีว่า รัฐบาลมีความยากลำบากในการทำงาน ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจที่ผันผวน ที่ไม่มีความแน่นอนสูง ซึ่งภาคเอกชนให้กำลังใจนายกฯ และพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วยความจริงจัง
          
โดยนายกฯ กล่าวขอบคุณและสิ่งที่ได้รับฟังข้อมูลในวันนี้ สอดคล้องกับนโยบายและแนวคิดของรัฐบาล ซึ่งทุกข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ทั้งการช่วยเหลือ การให้สิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตราเยียวยาต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย
          
นายกฯ ยืนยันว่า นายกฯ คณะรัฐมนตรี(ครม.) และศบค. ไม่เคยหยุดคิด หยุดทำงาน นายกรัฐมนตรีรับรายงานทุกวัน เพื่อสั่งการทั้งการรักษา การเยียวยา รวมทั้งการเตรียมมาตรการเรื่องงบประมาณ เพื่อดูแลคน 70 ล้านคน แต่ทุกมาตรการของรัฐต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย และได้ย้ำมาตลอดว่า ไทยต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ รัฐบาลทำหน้าที่กำหนดนโยบายสร้างโอกาสให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ลดความขัดแย้ง
          
นายกฯ กล่าวว่า ขอยืนยันในการเดินหน้าเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งเริ่มแล้วที่ภูเก็ตและสมุย และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป  ซึ่งรัฐบาลและเอกชนต่างก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจเดินหน้าประเทศ เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน พร้อมรับข้อเสนอ ข้อห่วงใยทุกประเด็น ซึ่งจะได้นำไปหารือกับครม.และ ศบค. ต่อไป
          
ทั้งนี้ก่อนจบการประชุม ภาคเอกชน  ประธานหอการค้า ขอบคุณการหารือวันนี้ ที่นายกฯ ได้ให้เวลา และรับฟังด้วยความตั้งใจ เพื่อร่วมกันทำงาน สร้างความเชื่อ สร้างสรรค์ ผลักดัน เป้าหมายฟื้นฟู เพื่อบรรลุเป้าหมาย และสุดท้ายในส่วนของซีอีโอ 40 บริษัทยังได้กล่าวให้กำลังใจนายกฯ  และขอให้ท่านนายกฯ ทำหน้าที่ด้วยความเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป

"สมาคมศูนย์การค้าไทย"นำเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้สมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA นำเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจศูนย์การค้าและการค้าปลีก ในโอกาสประชุม conference call กับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยคณะทำงานจากภาครัฐ เสนอภาครัฐให้มีมาตรการเยียวยาเร่งด่วน ทั้งรักษาอัตราการจ้างงาน ส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในระยะยาว เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นช่วยลดผลกระทบที่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยภาคธุรกิจศูนย์การค้าและค้าปลีกยังคงพร้อมเดินหน้าให้การสนับสนุนภาครัฐและด้านสาธารณสุข ดูแลศูนย์การค้าให้สะอาด ปลอดภัยอย่างเต็มที่

          นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาคธุรกิจศูนย์การค้าโดยสมาคมศูนย์การค้าไทย ขอขอบพระคุณ ฯพณฯ และภาครัฐเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้โอกาสเสนอแผนงานร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศ สมาคมฯ พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งที่เป็นคู่ค้าผู้เช่า และผู้ประกอบการอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกฝ่ายรอดพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน โดยนับรวมแล้วได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท”

          นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย 2 สมัย (ปี 2557-2561) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาคธุรกิจศูนย์การค้าและการค้าปลีกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ผู้ประกอบการขาดรายได้ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐอย่างเคร่งครัด ในการนี้ ทางสมาคมฯ จึงขอนำเสนอมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจศูนย์การค้า เพื่อโปรดพิจารณาอนุมัติโดยเร่งด่วน ดังนี้

          1)สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ธุรกิจศูนย์การค้าได้ช่วยเหลือเพื่อพยุงธุรกิจอื่นๆ เช่น ช่วยพยุงการจ้างงานโดยสามารถนำรายจ่ายเงินเดือน พนักงาน มาหักภาษีได้ 2 เท่า สามารถนำส่วนลดค่าเช่าผู้ประกอบการ มาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

          2)กระตุ้นการลงทุนต่อเนื่อง ให้เกิดการลงทุนในทรัพย์สิน อาคารถาวร เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงการรซ่อมบำรุง เพื่อให้ทรัพย์สินมีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี สามารถลงเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ 2 เท่า (ดังเช่นปีที่แล้ว)

          3)เยียวยาแก่ภาคธุรกิจที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวโคยคำสั่ง ศบค. หากธุรกิจสามารถบริหารจัดการให้พนักงานได้รับวัคซีนครบ 70% แล้ว ขอให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถประกอบการได้ตามปกติ

          4)ช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ขยายเวลาลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี ลดค่าไฟฟ้า 50% ยกเว้นภาษีป้าย และค่าเช่าที่ดินที่เช่าจากภาครัฐ”

          นอกจากนี้ ภาคธุรกิจศูนย์การค้าต้องการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านค้าในการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยมีความเข้าใจถึงความจำเป็นรอบด้าน จึงขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดแผนการเปิด-ปิดธุรกิจในสถานการณ์แต่ละเฟสให้ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจต่างๆ เตรียมความพร้อม ลดผลกระทบที่เกิดจากคำสั่งเปลี่ยนแปลงกระทันหัน โดยแบ่งระดับความรุนแรงของการระบาด มี Indicator ที่ชัดเจน เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เปอร์เซ็นต์ประชาชนได้รับวัคซีนครบโดส ความสามารถในการรองรับของโรงพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ และด้วย Indicators เหล่านี้ สามารถกำหนดได้ว่าสถานการณ์ในเฟสไหนจะมีธุรกิจอะไรเปิดให้บริการได้บ้าง หรือเปิดได้ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง แบ่งพื้นที่ปลอดภัยให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีกำลังใจ สามารถเตรียมการ และวางแผนการดำเนินธุรกิจของตนเองในแต่ละพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          ปัจจุบัน สมาคมศูนย์การค้าไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าทั้งหมด 13 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน), บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด, บริษัท แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะมอลล์ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ จำกัด สำนักงานใหญ่, บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เดอะ เคอี กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท พิริยา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา จำกัด

ประธานหอการค้าเผยเปิดช่องให้เจรจาหาวัคซีนเข้ามาได้

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับข้อเสนอของเอกชนไปพิจารณา ทั้ง 4 ข้อ โดยได้ขอขอบคุณภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนการป้องกันการระบาด ให้ประชาชนในทางต่าง ๆ โดยภาครัฐก็ยินดีสนับสนุนให้ภาคเอกชนช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้เอกชนช่วยเจรจาหาวัคซีนที่ดีมีคุณภาพเสริมจากที่ทางรัฐบาลได้เตรียมการไว้ เพื่อให้ประชาชนได้วัคซีนเร็วที่สุด ส่วนประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน นายกฯ พร้อมเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนต่อไป
          
สำหรับข้อเสนอของทางเอกชนทั้ง 4 ข้อ คือ 1. การควบคุมการแพร่ระบาด โดยเสนอให้จัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ทั้ง 25 ศูนย์ ของภาคเอกชนร่วมกับ กทม. มีความสามารถที่จะเสริมการฉีดและรองรับการกระจายวัคซีนได้ทุกกลุ่มอายุ โดยสามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้ เช่นเดียวกับการจัดยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมาตรการ Isolation ทั้ง จัดให้มี Rapid Tests อย่างทั่วถึง สนับสนุนให้เอกชนจัดสถานที่ Isolation จัดให้มียารักษาอย่างพอเพียง และเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยหนักและ ICU โดยเฉพาะในเขตสีแดงและแดงเข้ม

หน้าแรก » การเมือง