วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:37 น.

การเมือง

โฆษกกลาโหมฝ่ายการเมือง จวกพรรคส้มอภิปรายข้อมูลยาซูโดอีฟีดรีน มั่วนิ่มจับโยงมั่ว แนะหาข้อมูลให้แน่น 

วันพุธ ที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2567, 18.24 น.

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์   โฆษกกระทรวงกลาโหมฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ สส.พรรคประชาชน อภิปรายตัดงบกระทรวงกลาโหม ในส่วนของการสร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ 938 ล้านบาท โดยยกข้อมูลที่สับสน ไม่เป็นความจริง นำพาสังคม ไปสู่ความเข้าใจผิดในหลายประเด็น    เช่น

การตั้งคำถามเกี่ยวกับยาซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) ที่ชอบเรียกกันว่า ยาเสียตัว โดยกล่าวว่า‘หลังๆ ยาชนิดนี้ไม่มีขายเท่าไหร่เพราะเป็นสารตั้งต้นยาบ้า ยาไอซ์‘   พร้อมนำมาอภิปรายผูกติดกับข้อมูลที่ว่า  ’ไทยส่งออกยาไอซ์สูงสุดอันดับ 1’  นับเป็นการกล่าวร้ายประเทศไทยบ้านเกิดของคนไทยอย่างน่าตกใจ  เป็นการจงใจนำข้อมูลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน มาอภิปราย เชื่อมโยงกันให้ประชาชนเข้าใจผิด จนทำให้คนไทยทั้งประเทศไทยเสียหาย  
          
ทั้งนี้ ตนขอเรียกร้องให้ สส.คนดังกล่าว  อภิปรายด้วย ‘ความทรงภูมิใหม่’  เพื่อชี้แจงความจริงต่อสังคมว่า ผู้ที่สามารถจำหน่ายซูโดอีฟีดรีนสูตรเดี่ยวนั้น ความจริงคือผลิตได้เฉพาะผู้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ฯ  กระทรวงทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม หรือ ‘สถาบันอื่นของทางราชการตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ เท่านั้น ดังนั้น โรงงานเภสัชกรรมทหาร เป็นหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม จำเป็นต้องผลิตทางการแพทย์ตามกฎหมาย  และยานี้ห้ามขายในร้านขายยาทั่วไปตามกฎหมายอยู่แล้ว
           
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า การอภิปรายในสภา โดยไม่มีฐานข้อมูลรองรับที่ว่า ‘แทบทั้งโลกเลิกผลิตซูโดอีฟีดรีนแล้ว ไปใช้ยาตัวอื่น‘  ไม่เป็นความจริง ณ วันนี้ยังมีการผลิตยาดังกล่าวเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาล เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ซึ่งเรื่องนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ‘หน่วยงานใดเป็นผู้ผลิต’  แต่ที่ผ่านมาคือ ‘การควบคุมการใช้ยา‘ โดยปัจจุบัน ยาชนิดนี้ถูกจัดให้อยู่กลุ่ม ‘วัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 (วจ.2) การใช้ต้องมีการขออนุญาตทุกครั้งและมีการจำกัดการใช้ ในทางการแพทย์ ยาทั้ง 2 ตัว เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มที่ใช้รักษาภาวะอาการเดียวกัน ทั้งหมดจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย  
          
ส่วนวาทกรรมที่ว่า ‘การผลิตยาไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ’ และ ‘กองทัพทำงานที่ไม่ใช่ธุระ’  พร้อมไล่เลียงเนื้อหาเพื่อเข้าสู่ปลายทางการตัดงบสร้างโรงงานเภสัชกรรมทหารแห่งใหม่ที่ จ.ราชบุรี ออกทั้งหมด นั้น 

ข้อเท็จจริงคือ โรงงานเภสัชกรรมทหาร เกิดขึ้น พ.ศ. 2484 – 2488 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่การผลิตยาเพื่อช่วยเหลือประชาชน และ ทหารในภาวะสงคราม  จนปัจจุบันยังอยู่ในสังกัดปลัดกระทรวงกลาโหม ผลิตยาเพื่อใช้ในกองทัพ  และที่ผ่านมาโรงงานเภสัชกรรมทหาร ช่วย GPO องค์การเภสัช ภายใต้กำกับของสาธารณสุข ผลิตยาใช้ในยามวิกฤต  เช่น ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554  ที่องค์การเภสัชกรรม ผลิตยาไม่ทัน เช่นกัน   

ส่วนการอภิปรายเชิงประชดประชันว่า ‘ทหารเป็นหวัดคัดจมูกกันเยอะขนาดนั้นเลยเหรอคะ’ ทั้งที่โรงงานเภสัชกรรมทหาร ผลิตยาป้อนเข้าโรงพยาบาลอื่นๆเพื่อให้ประชาชนทั่วไปใช้ยานี้ได้  เนื่องจากเป็นยาที่ควบคุมการผลิต และจำเป็นที่จะต้องควบคุมการผลิต และส่งให้กับโรงพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ การยกเอาฤทธิ์ของยาที่ถูกจำกัดการใช้ และนำเหตุผลว่ายานั้นเป็นสารตั้งต้นของยาเสพติดขึ้นมาอภิปราย เพื่อ ‘สร้างความกลัว’ ให้กับสังคม  ทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ยานี้ให้โทษมากกว่าให้คุณ เป็นสิ่งที่ผู้ที่เป็นแพทย์ ไม่สมควรทำ และพรรคการเมืองเองก็ไม่สมควรที่จะเผยแพร่ข้อมูลด้านเดียวให้ประชาชนเข้าใจผิด อภิปรายในสภาเล่นใหญ่ ผิดไปแล้ว แต่กลับมาแก้ต่างในโซเชียลมีเดีย ว่า ขออภัยเข้าใจผิดเงียบๆ เป็นเรื่องที่ไม่ควร เกิดขึ้น

หน้าแรก » การเมือง