วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:32 น.

การเมือง

“วราวุธ” เผย พม. เล็งปั้น นักพัฒนาสังคมมืออาชีพ-ผู้นำยุคใหม่ พัฒนาสังคมไทยยั่งยืน

วันอังคาร ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568, 10.07 น.

“วราวุธ” เผย พม. เล็งปั้น นักพัฒนาสังคมมืออาชีพ-ผู้นำยุคใหม่ พัฒนาสังคมไทยยั่งยืน  พร้อมเตรียมเปิดกล้องคุย ครอบครัวอุปภัมภ์ผู้สูงอายุ เผย พม. ดูแลได้ปีละพันคน ทั้งที่ขอมา กว่า 7พัน 

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568  ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. ประจำเดือน ก.พ. มีการรายงานถึงพันธกิจสำคัญ (Flagship Project) ที่ 8 พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสังคม ซึ่งเป็น 1 ใน 9 พันธกิจสำคัญของกระทรวง พม. ที่ต่อยอดนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาในมิติทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระหว่างผู้นำระดับประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยและสังคมไทยอย่างยั่งยืน และเพื่อพัฒนาหลักสูตรความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคนและสังคม ตลอดจนการจัดระบบสวัสดิการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค จนถึงระดับประเทศ อีกทั้งเพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ ทัศนคติ และความคิดของบุคลากร พม. ให้เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของกระทรวงอย่างเต็มศักยภาพ ด้วยความรับผิดชอบและมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก อันนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ การพัฒนาบุคลากรที่นำไปสู่การปฏิบัติงานได้จริง และกระบวนการพัฒนาบุคลากรที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนคนให้สามารถทำงานได้ตรงต่อปัญหาและเกิดผลกระทบที่ดีต่อประชาชน 

สำหรับการขับเคลื่อนพันธกิจสำคัญ (Flagship Project) ที่ 8 พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสังคม นั้น ได้แบ่งการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 1) การพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาสังคมทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค จังหวัด และท้องถิ่น เพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานภายนอกกระทรวงที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาสังคมในระดับท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานพัฒนาสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง อาทิ การคุ้มครองเด็ก การส่งเสริมสิทธิผู้สูงอายุ การดูแลคนพิการ และการป้องกันการค้ามนุษย์ และการจัดอบรมหลักสูตรผู้นำร่วมเปลี่ยนแปลงทางสังคม(นรปส.) เพื่อสร้างผู้นำที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับกลุ่มจังหวัด ด้วยความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นสำหรับการสร้างความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ชุมชนและสังคมอีกทั้งแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) การพัฒนาบุคลากร พม. ให้เป็นนักพัฒนาสังคมมืออาชีพ ภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติงานที่เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการจัดกิจกรรม Smart Unity : ผู้นำ พม. สู่ความเป็นหนึ่งเดียว ประกอบด้วย โครงการประเมินความต้องการและศักยภาพการปฏิบัติงานด้านสวัสดิการสังคมกระทรวง พม. สำหรับบุคลากร พม. รุ่นใหม่ , โครงการพัฒนาศักยภาพการบริหารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Executives Day Camp) สำหรับผู้บริหาร พม. ระดับสูง , การจัดอบรมหลักสูตร  Lead Forward ผู้นำยุคใหม่เพื่อสร้างองค์กรแห่งการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้อำนวยการกอง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และผู้อำนวยการกลุ่มในส่วนกลาง , การจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ทักษะ และจรรยาบรรณสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ และ การจัดกิจกรรม พม. เล่าสู่กันฟัง เป็นการจัดการความรู้ด้านวิชาการ ประจำปี พ.ศ 2568 ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำงานของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานที่มีความเชี่ยวชาญสำหรับบุคลากร พม.

และ 3) การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ด้วยการจัดโครงการจัดทำการประเมินความต้องการด้านการฝึกอบรม (Training Needs Assessment) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารทรัพยากรบุคคลของกระทรวงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการสับเปลี่ยน หมุนเวียนงานเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ (Rotation Plan) เพื่อส่งเสริมให้บุคลากร พม. ได้รับโอกาสในการสับเปลี่ยนหมุนเวียนสำหรับการสะสมความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานที่หลากหลาย ในรูปแบบการเรียนรู้งานผ่านการปฏิบัติงานจริง (On the Job Training)
 
 เตรียมเปิดกล้องคุย ครอบครัวอุปภัมภ์ผู้สูงอายุ เผย พม. ดูแลได้ปีละพันคน ทั้งที่ขอมา กว่า 7 พัน

 นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete - Aged Society) มีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 13.60 ล้านคน คิดเป็น 20.94% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เฉลี่ยปีละประมาณ 500,000 คน และมีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะอยู่ลำพัง ถูกทอดทิ้ง และขาดผู้ดูแลเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในขณะที่สถานการณ์เด็กเกิดใหม่มีอัตราลดลง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลให้ครอบครัวไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่เพียงลำพัง มีภาวะพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น  

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงได้ผลักดันระเบียบกรมกิจการผู้สูงอายุ ว่าด้วยการคุ้มครองผู้สูงอายุแบบครอบครัวอุปถัมภ์ พ.ศ. 2566 เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน และไม่มีผู้ดูแล หรือมีผู้ดูแลแต่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในครอบครัวและชุมชนถิ่นอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีผู้ดูแลในรูปแบบ "ครอบครัวอุปถัมภ์"

ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ. 68 ที่กระทรวง พม. จัดให้มีกิจกรรม “ปันสุขผู้สูงวัย ไกลแค่ไหนก็ใกล้กัน” เพื่อเยี่ยมเยียน พูดคุยให้กำลังใจ พร้อมติดตามการช่วยเหลือผู้สูงอายุและครอบครัวอุปถัมภ์ฯผู้สูงอายุ จำนวน 5 ครอบครัว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลพบุรี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference)

สำหรับโครงการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุนั้น ทางกรมบัญชีกลางได้กำหนดอัตราวงเงินให้แก่ครอบครัวอุปถัมภ์ฯ ครอบครัวละ 2,000 -3,000 บาทต่อผู้สูงอายุหนึ่งคนต่อเดือน มีการติดตามครอบครัวอุปถัมภ์ฯ ในพื้นที่ โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

ซึ่งปีงบประมาณ 2568 กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. ได้รับงบประมาณโครงการสนับสนุนครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ ประมาณ 29.55 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบฯเท่าเดิมของปีงบประมาณ 2567 – 2568 ที่กระทรวง พม.ได้รับ สามารถดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุได้เพียง 1,107 คน แต่ขณะนี้มีสูงอายุมายื่นคำขอในโครงการฯ มากถึง 7,464 ราย ทั่วประเทศ ดังนั้นในปีงบประมาณ 2569 กระทรวง พม. หวังจะขอขยายวงเงินงบประมาณสนับสนุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุได้ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคมที่ต้องให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด 
 

หน้าแรก » การเมือง