วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:35 น.

การเมือง

พระราชพิธีแรกนาขวัญปี 68 พระโคกินน้ำ-หญ้า-เหล้า น้ำพอดี คมนาคมสะดวก เศรษฐกิจรุ่งเรือง

วันศุกร์ ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 09.29 น.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2568 เสี่ยงทายพระโคกินน้ำ-หญ้า-เหล้า น้ำพอดี คมนาคมสะดวก เศรษฐกิจรุ่งเรือง 

เมื่อวันที่ 9  พฤษภาคม 2568  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังพลับพลาที่ประทับ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อทรงเป็นประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2568

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรก ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐาน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ในปีนี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตรและนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวฉันทิสา อารีเสวต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และนางสาวอภิชญา ฟูแสง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย

สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี และพระโคเพียง ความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปีพระโคสำรอง คือ พระโคเพิ่ม กับพระโคพูน

โดยกรมการข้าว ทำหน้าที่ในการจัดเตรียมพันธุ์ข้าวพระราชทานและพันธุ์พืช ซึ่งนำมาใช้ในงานพระราชพิธีฯ โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวทรงปลูกในฤดูนาปี 2567 โครงการนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มาใช้ในงานพระราชพิธีฯ ประจำปี 2568 ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน 5 พันธุ์ (ขาวดอกมะลิ 105, กข 79, กข 85, กข 99 (หอมคลองหลวง 72) และกขจ 1 (วังทอง 72)) พันธุ์ข้าวเหนียว จำนวน 2 พันธุ์ (กข 6 และ กข 24 (สกลนคร 72)) เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 4,880 กิโลกรัม และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายให้บรรดาพสกนิกร ประชาชนผู้สนใจ และชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคล ในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป

ทั้งนี้งานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568นี้ โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนา ส่วนพระโคแรกนา คือ พระโคพอ และพระโคเพียง

สำหรับผลเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนาที่นำไปประกอบพิธีปีนี้ โดยพระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงทายหยิบผ้านุ่งแต่งกาย 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำสำหรับปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

สำหรับผลเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค ปีนี้
- พระโคกินน้ำ-หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร พร้อมด้วยธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร อุดมสมบูรณ์ดี
- พระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา

อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการการคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติและปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2568 โดย นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่เบิกตัวผู้ได้รับพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณในประเภทต่าง ๆ มีรายชื่อ ดังนี้
เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568 จำนวน 16 ราย คือ
1) อาชีพทำนา ได้แก่ นางสาวกรียา สุไชยแสง จังหวัดกาฬสินธุ์
2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายวสันต์ รื่นรมย์ จังหวัดระยอง
3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายเพทัย แตงโสภา จังหวัดสุพรรณบุรี
4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางรุ่งลาวัลย์ เบ้าคำ จังหวัดสระแก้ว
5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางสาวนงนุช วงคง จังหวัดฉะเชิงเทรา
6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายอนุพงษ์ พิพัฒน์วัชราภรณ์ จังหวัดนครปฐม
7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสมประสงค์ เนตรทิพย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายณรงค์ แก้วมณี จังหวัดสตูล
9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายศักดิ์ชัย ตันอริยะมีศิริกุล จังหวัดราชบุรี
10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสุนทร มีจำนงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางณัฐกานต์ ศรียาน จังหวัดสตูล
12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นางราตรี บัวพนัส จังหวัดนครสวรรค์
13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายจักรินทร์ โพธิ์พรม จังหวัดอุดรธานี
14) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นางสาวณัฐรินี สกุลจงเกษมสุข จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
15) ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายสุวิทย์ เกิดศรี จังหวัดสตูล
16) สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายวัชรินทร์ มะณีนิล จังหวัดศรีสะเกษ- 3 -
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568 จำนวน 12 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาบัวงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
2) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
3) กลุ่มเกษตรกรทำไร่ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่หนองกราด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
4) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่โคนมโคกก่อ จังหวัดมหาสารคาม
5) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านแพรกเมือง อำเภอหัวไทร
จังหวัดนครศรีธรรมราช

6) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาเวียง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
7) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านหัววัง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดวัดสุพรรณบุรี
8) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
9) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำอ่างเก็บน้ำคลองหยา จังหวัดกระบี่
10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ ตำบล
เกาะแก้ว อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์

11) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหันเทา อำเภอกุดจับ
จังหวัดอุดรธานี
12) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย อำเภอบาง
แก้ว จังหวัดพัทลุง

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2568 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ
1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรปง จำกัด อำเภอปง จังหวัดพะเยา
2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมเทพสถิต จำกัด อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ
3) สหกรณ์ประมง ได้แก่ สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด จังหวัดสมุทรสงคราม
4) สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์ชาวสวนยางพาราภูผาหมอก จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ
5) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพังงา จำกัด จังหวัดพังงา
6) สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลพัทลุง จำกัด จังหวัดพัทลุง
7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเขื่อนเพชรโค้งข่อย จำกัด จังหวัดเพชรบุรี
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2568 จำนวน 3 สาขา คือ
1) สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ร้อยตรี สุรชัย บุญคง
2) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสวง คุ้มวิเชียร
3) สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายวันนา บุญกลม

หน้าแรก » การเมือง