วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 07:57 น.

ภูมิภาค

กระทรวงเกษตรฯเปิดตัวแปลงสับปะรดอัจฉริยะที่หัวหิน

วันศุกร์ ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 13.25 น.

กระทรวงเกษตรฯเปิดตัวแปลงสับปะรดอัจฉริยะที่หัวหิน

 

 

 

วันที่ 23 สิงหาคม 62 ที่ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าสินค้าเกษตร ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เยี่ยมชมการสาธิตการใช้เทคโนโลยีเกษตรกรอัจฉริยะในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ การผลิตสับปะรด กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ มีนางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวันชัย นิลวงศ์ เกษตร จ.ประจวบฯ เกษตร อ.หัวหินและใกล้เคียง ผู้ประกอบการและแขกผู้มีเกียรติให้การต้อนรับ

 

 

 

นางสาววราภรณ์ กล่าวว่า สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยในปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องในลำดับต้นๆของโลก มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 20,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งในรูปของสับปะรดผลสด สับปะรดแช่แข็ง สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดเข้มข้น ซึ่งจากการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะได้มีการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะในพื้นที่ 6 จังหวัดในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคใต้ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการผลิตพืช 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง มะเขือเทศ และสับปะรด พร้อมทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดทำ Big Data ด้านเกษตรอัจฉริยะ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการไปแล้วใน 2 พืช ได้แก่ ข้าว จ.สุพรรณบุรี และ มันสำปะหลัง จ.กำแพงเพชร     

 

 

 

ในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและผู้ประกอบการได้นำมาใช้ในแปลงเรียนรู้การผลิตสับปะรด จัดว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเนื่องจากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนและลดการสูญเสียผลผลิต อีกทั้งดำเนินการในรูปแบบประชารัฐเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกรแปลงใหญ่ในพื้นที่ ทั้งเครื่องจักรกลเกษตรอัจฉริยะต่างๆรวมถึงการทำการเกษตรแบบแม่นยำมาทดสอบใช้ในแปลงเรียนรู้ ครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการผลิตพืชตั้งแต่การเตรียมหน่อพันธุ์สับปะรดที่ดี การเก็บตัวอย่างดินเพื่อจัดทำแผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดิน สำหรับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินตามความต้องการของพืช การเตรียมดินโดยใช้รถแทรคเตอร์ติดตั้งระบบพวงมาลัยอัตโนมัตินำร่องด้วยระบบ GPS ต่อพ่วงด้วยไถสิ่วพร้อมพรวนดิน ปลูกโดยใช้รถแทรคเตอร์ติดตั้งระบบพวงมาลัยอัตโนมัตินำร่องด้วยระบบ GPS ต่อพ่วงด้วยเครื่องปลูกสับปะรด เป็นต้น ตลอดจนการใช้ sensor ตรวจวัดสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมซึ่งข้อมูลทั้งหมดจากแปลงเรียนรู้จะถูกรวบรวมเพื่อนำไปสู่การพัฒนา Big Data Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะที่สามารถประมวลผลข้อมูลผ่านระบบ internet เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลมาช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการทำเกษตรกรรมได้อย่างแม่นยำผ่าน Application ต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้.

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค