วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 20:54 น.

ภูมิภาค

นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เปิดประเพณีตักบาตรพระร้อย วัดบ่อทอง จ.ปทุมธานี

วันอาทิตย์ ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2562, 14.44 น.

นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เปิดประเพณีตักบาตรพระร้อย วัดบ่อทอง จ.ปทุมธานี

    

เมื่อเดินทางไปจังหวัดปทุมธานี คราใด  ก็จะแวะท่องเที่ยวทางศาสนา นมัสการ ขอพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้าน คู่เมืองปทุมธานี เป็นประจำ พร้อมกับ  ทำบุญ สร้างกุศล เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองและครอบครัว
    

ซึ่งครั้งนี้ มีโอกาส เดินทางไปที่วัดบ่อทอง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลคูขวาง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี สังกัดมหานิกาย พระมหาสมโภชน์ ฐานะสัมปันโน อายุ 52 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อทอง พระสงฆ์ 18 รูป สามเณร 5 รูป บนเนื้อที่ 30 ไร่ ประกอบด้วย กุฏิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ เป็นต้น

 


   

สำหรับวัดบ่อทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2434 โดยสร้างเป็นสำนักสงฆ์ก่อน ในสมัยแรกที่สร้างเป็นสำนักสงฆ์จนมาเป็นวัดบ่อทองนั้น ปฐมเจ้าอาวาสคือ พระอธิการเอี่ยม ซึ่งพระรามัญมุนี วัดบางหลวง ได้ส่งมาครองวัด ได้ชักนำคณะทายกทายิกา ร่วมก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้น  ต่อมา พระอริยะธัช(พุฒ) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี วัดสำแล กับ พระครูนันทมุนี(มะลิ)ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น  พระรามัญมุนี เจ้าคณะอำเภอลาดหลุมแก้ว วัดบางหลวง ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา โดยมีพื้นที่กว้าง 2 เส้น ยาว 2 เส้น 5 วา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2459 หลังจากนั้น ประชาชนในแถบนี้ ได้สละทรัพย์ตามกำลังศรัทธา พร้อมกับ พระเดชพระคุณพระรามัญมุนี(มะลิ) วัดบางหลวง ช่วยกันสร้างอุโบสถ บริเวณวัดที่สร้างขึ้นตอนนั้น มีเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ ของบริเวณนี้เป็นป่าทึบมาก รกไปด้วยพฤกษชาติต่างๆ มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด สัตว์ป่าก็มีมาก ด้วยเหตุที่บริเวณนี้ เป็นที่ลาดลุ่ม มีน้ำตลอดปี เมื่อก่อตั้งวัดขึ้นมา จึงพากันเรียกว่า “วัดลาด” หมายถึง ที่ลาดลุ่ม อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้  ส่วนใหญ่เป็นชาวรามัญ (มอญ) คาดว่า น่าจะย้ายรกรากถิ่นฐานมาจากชายแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อมาถางป่าจับจองพื้นที่ทำกิน ผู้ที่มีความอดทนต่อธรรมชาติและไม่ครั่นคร้ามต่อสัตว์ร้าย ก็ถากถางพงไพรได้เนื้อที่ตามกำลังมากน้อย บางส่วนก็มอบถวายให้จัดตั้งวัด

 


    

 

พระเดชพระคุณพระรามัญมุนี(มะลิ) ยังได้ใส่ใจคอยดูแลวัดบ่อทองอยู่มิได้ขาด โดยได้ส่งพระอธิการเอี่ยม วัดบางหลวง มาเป็นปฐมเจ้าอาวาส ต่อมา ได้ส่งพระอธิการเจิ่ม มาอีกรูป เพื่อให้พัฒนาวัดบ่อทองให้เจริญสืบมา ในสมัยต่อมา พระอธิการสำเภา ภัมมโร เป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อทอง ตั้งแต่เมื่อได้ 5 พรรษา ได้เป็นผู้แข็งขันในการพัฒนาวัดเป็นอย่างมาก โดยได้สร้างกุฏิหลังใหม่ขึ้น และยังได้สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นหนึ่งหลัง และได้รับแต่งตั้งเป็นครูและอาจารย์ในโรงเรียนประชาบาล ท่านได้อบรมพร่ำสอนกุลบุตร กุลธิดา ในตำบลนี้และใกล้เคียง และได้สนับสนุนเด็กให้มีความรู้สูงขึ้นในชั้นต่อๆไป และได้จัดให้มี “ประเพณีตักบาตรพระร้อย “ ขึ้น เป็นงานประจำปีจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านได้ก่อสร้างและพัฒนาวัดบ่อทองมาตลอดอายุจนเมื่อชราภาพลง จึงได้มอบหมายการงานของวัดให้พระครูมนัส อริกเขโป ต่อมา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูสุนทรธรรมทัต เป็นผู้ดูแลวัดแทน ซึ่งพระครูสุนทร ธรรมทัต ได้พัฒนาวัดสืบเรื่อยมา จนมาถึง สมัยพระครูวิมลสุวรรณากร ได้ปกครองพัฒนา ให้มีความเจริญรุ่งเรือง และพระมหาสมโภชน์ ฐานะสัมปันโน เจ้าอาวาสวัดบ่อ องค์ปัจจุบัน ได้มีการสานงานต่อ จนได้รับการคัดเลือกเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ปี 2538 อีกด้วย

 


   

นอกจากนี้ ภายในวัดบ่อทอง จะพบเห็น พระพุทธบรมธาตุสุวรรณเจดีย์ ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้นานาพันธุ์ ปกคลุมโดยรอบ ทำให้บรรยากาศ เต็มไปด้วยความสงบ ร่มรื่น ยิ่งนัก
   

สำหรับ พระพุทธบรมธาตุสุวรรณเจดีย์ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2540 ลักษณะเจดีย์ ทรงกลม รูประฆังคว่ำ ความสูงของเจดีย์จากฐานถึงยอด ประมาณ 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร องค์เจดีย์สร้างอยู่บน มณฑปจัตุรมุข ขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร หน้าบันเจดีย์ ประดิษฐานอักษรพระนาม สส. ภายในมณฑปเป็นที่ประดิษฐาน “ พระบรมสารีรักธาตุ “ ที่ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับประทานนามจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัตดามาตุ(พระนามในขณะนั้น) ว่า “ พระพุทธบรมธาตุสุวรรณเจดีย์” และได้เสด็จมาทรงเปิดและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557
    

บริเวณด้านนอก พระพุทธบรมธาตุสุวรรณเจดีย์ มีกำแพงอิฐมอญ ก่อเลียบแบบกำแพงโบราณ สูง 2 เมตร ผนังกำแพงด้านใน ประดับด้วยภาพหินทราย แสดงเรื่องราววิถีชีวิตของคนไทยสมัยก่อนและช่องตั้งเทียนตลอดแนวกำแพง
    

ส่วน ศาลาการเปรียญ หรือ ศาลาสุวรรณากรวิมลศรัทธา ไม่ทราบปี พ.ศ.ที่สร้างแน่นอน คาดว่า ประมาณปี พ.ศ.2490 เป็นศาลาไม้ ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างขยายมาแล้ว 2 ครั้ง กระทั่งปัจจุบัน มีขนาด กว้าง 18 เมตร ยาว 25 เมตร เป็นศาลาทรงไทยคู่ใหญ่เล็ก  ซึ่งศาลาทรงไทยหลังใหญ่ หน้าบัน ด้านหน้า รูปนารายณ์ทรงครุฑ หน้าบัน ด้านหลัง เป็นรูปเทพพนม ทำจากไม้สักแกะสลัก เชิงชายติดลวดลายฉลุไม้สัก ลูกกรงทำจากไม้สักแกะสลักลวดลายฉลุเช่นกัน

 


    

สำหรับประเพณีตักบาตรพระร้อยของชาวจังหวัดปทุมธานี แปลกกว่าที่อื่น โดยเฉพาะการตักบาตรพระร้อย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการตักบาตรเป็นระยะทางไกลหลายกิโลเมตร
    

ซึ่งการทำบุญตักบาตรพระร้อยของชาวจังหวัดปทุมธานี  มีมาช้านาน เป็นประเพณีที่เก่าแก่สืบทอดติดต่อกันมาเป็นเวลากว่าร้อยปี และชาวปทุมธานี ถือว่า เป็นงานสำคัญและยิ่งใหญ่ ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ 1. เพื่อเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมั่นคงสืบไป 2. เพื่อแสดงมุทิตาจิต ความยินดีที่บุตรหลานของตนได้บวชเรียนจนครบพรรษา ไม่สึกลาเพศสมณะ มาเป็นฆราวาสในระหว่างจำพรรษา ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “แหกพรรษา “ และพระภิกษุเก่าก็จะมีพรรษาเพิ่มขึ้น 3. เพื่อให้สถาบันครอบครัวมั่นคงและอบอุ่น ญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล ก็จะพากันกลับมาทำบุญตักบาตรร่วมกันในเทศกาลสำคัญทางศาสนา
    

การทำบุญตักบาตรพระร้อย จะกระทำกันในเทศกาลออกพรรษา  ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ขึ้นไป ซึ่งการทำบุญตักบาตรพระร้อย วัดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะตกลงกัน กำหนดแบ่งเป็นเจ้าภาพ เพื่อไม่ให้จัดตรงกัน เพราะถ้าจัดตรงกัน พระที่มารับบาตรจะมีจำนวนน้อย และต้องการให้พุทธศาสนิกชนรู้กำหนดเวลา จะได้เตรียมกับข้าวคาวหวาน ไว้ทำบุญตักบาตรได้ถูกต้อง

 


    

เมื่อถึงวันตักบาตรพระร้อย วัดที่เป็นเจ้าภาพจะเตรียมการต่างๆ โดยให้มรรคนายกหรือชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัด ช่วยกันนำเชือกไปขึงที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะใช้วัดเป็นศูนย์กลางจุดเริ่มต้น แล้วขึงผ่านหน้าบ้านพุทธศาสนิกชน ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทางยาว 1 – 2 กิโลเมตร พุทธศาสนิกชนที่ตักบาตร ก็จะรออยู่หน้าบ้าน หรือ นั่งรออยู่ในเรือนหน้าบ้าน ที่อยู่ติดกับเชือกที่ขึงไว้ พอถึงเวลากำหนด พระตามวัดต่างๆที่นิมนต์ไว้ ก็จะมานั่งเรือ ที่ศิษย์วัดหรือชาวบ้าน พายเรือให้พระนั่งรับบาตร ซึ่งพระที่มารับบาตร จะมารวมกันที่วัดเป็นเจ้าภาพและจับหมายเลข ถ้าได้หมายเลข 1 ก็ให้ออกหน้าไปก่อน ศิษย์ที่นั่งพายเรือก็จะรีบสาวเชือกที่ขึงไว้ เพื่อรับอาหารคาวหวานจากพุทธศาสนิกชนที่มาใส่บาตร เรื่อยไปทุกบ้านและพระที่ได้หมายเลข 2 – 3 – 4 ก็จะออกบิณฑบาตต่อๆกันไป จนครบ 100 รูป หรือ ตามจำนวนพระทั้งหมดที่มา เมื่อพระรูปใดรับบาตรเสร็จแล้วก็พายเรือกลับวัดของตน
    

ครั้นตกบ่าย พุทธศาสนิกชน ก็จะมาปิดทองไหว้พระประธานในอุโบสถ หรือ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือ ปิดทองรอยพระพุทธบาท ซึ่งทาวัด ก็จัดดอกไม้ ธูปเทียน ทองคำเปลว จำหน่ายปัจจัยบำรุงวัด บางวัดก็จะมีมหรสพให้ชมทั้งกลางวันและกลางคืนอีกด้วย..


                                              สนธยา ทิพย์อุตร...รายงาน

หน้าแรก » ภูมิภาค