วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:51 น.

ภูมิภาค

ทต.ดอนประดู่ร่วม ม.ทักษิณจัดกิจกรรมดอนประดู่นาวาน สืบสานข้าวสังข์หยดอินทรีย์ ครั้งที่ 14

วันศุกร์ ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563, 22.46 น.

 

ที่แปลงนาดอนประดู่ หมูที่5 ตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับเทศบาลตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต2 โรงเรียนปากพะยูนพิทยาคาร และครูภูมิปัญญาในชุมชน กว่า1,000 คน โดยมีนายศิลป์ชัย รามณีย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เดินทางมาเป็นประธาน โดย กิจกรรมดอนประดู่นาวาน หรือลงแขกเก็บข้าว สืบสานข้าวสังข์หยดอินทรีย์ ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 เพื่อปรับกระบวนทัศน์การทำนาข้าวสังข์หยดตำบลดอนประดู่ จากข้าวเคมีสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ในอนาคต เพื่อสร้างจิตสำนึกในการทำวิถีการเกษตรที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและคนในชุมชน เพื่อสืบสานวัฒนธรรมการทำนาวิถีดั้งเดิมและพิธีทำขวัญข้าว ให้นิสิตและนักเรียนในพื้นที่ ได้สัมผัสและเกิดจิตสำนึก เข้าใจ และรู้คุณค่า ความเป็นรากเหง้าของตนเอง

 


 

ด้านจรัล จันทร์แก้ว นายกเทศมนตรีตำบลดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง กล่าวว่าโครงการดอนประดู่นาวาน สืบสานข้าวสังข์หยดอินทรีย์ อีกครั้ง กิจกรรมในวันนี้เป็นครั้งที่ 14 นับเป็นความร่วมมือที่เข้มแข็งต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยและชุมชนดอนประดู่ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง ที่มหาวิทยลัยทักษิณใช้เป็นเครื่องมือให้ชุมชนทำการเกษตรแบบยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ปลูกฝังให้เยาวชนได้เกิดจิตสำนึก และเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

 


 

การนำระบบเกษตรอินทรีย์มาใช้ในการทำการเกษตร นับว่ามีความสำคัญและเกิดประโยชน์อย่างมากต่อชุมชน เนื่องจากเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับว่า สามารถสร้างความมั่นคงในการทำการเกษตรสำหรับเกษตรกร ตลอดจนเป็นการดูแลฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ยิ่งเมื่อนำมาใช้กับพืชท้องถิ่นอย่างข้าวสังข์หยด ก็จะยิ่งเพิ่มคุณค่าให้กับของดีเมืองพัทลุงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เกษตรกรชาวนา ก็จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

 


 

สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชน ทั้งนิสิตและนักเรียนนั้น เนื่องจากสังคมไทย มีการเปลี่ยนแปลงไปมากในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ ค่านิยม การบริโภค-อุปโภค คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะละทิ้งถิ่นเกิด เพื่อไปทำงานในสังคมเมืองมากขึ้น มีการดำรงชีวิตที่ห่างไกลออกจากวัฒนธรรมบรรพบุรุษมากขึ้นเรื่อยๆ หวังว่ากิจกรรมในวันนี้ จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ได้ซึมซับวิธีคิด จากการพูดคุยถอดความรู้จากคนรุ่นปู่ย่าตายาย และในอนาคตเมื่อคนรุ่นนี้เติบโตขึ้น จะได้นำสิ่งที่ได้สัมผัส พบเห็น มาบูรณาการกับวิทยาการความรู้ที่ได้รับจากการศึกษา ก็จะทำให้สามารถใช้ความรู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริง และเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค