วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:05 น.

ภูมิภาค

โรงงานสับปะรดกระป๋องประจวบฯ ทยอยปิดหลังราคาต้นทุนวัตดิบสูงสุด

วันศุกร์ ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 13.28 น.

วันที่ 12 มิถุนายน นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ. ประจวบคีรีขันธ์ พี่ชายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาสับปะรดพันธ์ปัตตาเวีย สำหรับส่งโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง เพื่อการส่งออกในพื้นที่ จ.ประจวบฯ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในประเทศไทยมีราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ราคากิโลกรัม (กก.) ละมากกว่า 15 บาท นับตั้งแต่มีการปลูกสับประรดต้นแรกในประเทศและนับตั้งแต่มีการตั้งโรงงานผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากปัจจุบันสิ้นสุดฤดูการผลิตตามปกติ ทำให้วัตถุดิบมีส่งโรงงานน้อยมาก วัตถุดิบที่ผลิตได้ทั่วประเทศเหลือเพียงวันละ 1,000 กว่าตัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2562 มีมากถึง 5 - 6 พันตันต่อวัน

 

 

 

“ส่วนหนึ่งมีผลกระทบมาจากสถานการณ์ภัยแล้ง และปัจจัยด้านราคาทำให้เกษตรกรที่มีปัญหารายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตหันไปปลูกพืชชนิดอื่น สำหรับปัญหาจากวัตถุดิบมีน้อย ทำให้โรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องทั้งรายใหญ่รายย่อย 18 แห่งในประจวบคีรีขันธ์ ต้องทยอยปิดโรงงานล่วงหน้าตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อทุเลาปัญหาขาดทุนจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ ขณะที่ปกติจะปิดสายการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี และส่วนตัวไม่มั่นใจหลังเปิดสายการผลิตช่วงไตรมาสที่ 3 แล้วจะมีสับปะรดป้อนเข้าโรงงานหรือไม่ แต่ประเมินว่าการผลิตเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศในภาวะปกติ อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี ทั้งที่ต่างประเทศยังมีความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพจากประเทศไทย มากกว่าผลิตภัณฑ์ของประเทศเพื่อนบ้าน”

 

 

นายวิรัชกล่าวอีกว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีปัญหากระทบหลายด้านกับภาคอุตสาหกรรมล่าสุดได้รับเสียงสะท้อนจากประธานสภาอุตสาหกรรมหลายจังหวัดที่มีภาคการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และขอให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งรัดแก้ปัญหาเร่งด่วนโดยเข้าไปควบคุมหรือติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามกลไกการตลาดที่แท้จริง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

 

 

ล่าสุดเงินบาทเหลือเพียง 30 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ และอาจมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องอีกจากเดิมเมื่อ 2 เดือน ก่อนมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาท ปัจจุบันเหลือ 30 บาททำให้สินค้าแปรรูปที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในการส่งออกกับตลาดต่างประเทศประสบภาวะขาดทุนทันที นอกจากนั้นผลจากค่าเงินบาทแข็งตัวต่อเนื่องจะไม่เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศที่หวังพึ่งนักท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศ จึงขอให้กระทรวงการคลัง หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งชี้แจงข้อเท็จจริงจากปัญหาอัตราแลกค่าเงินบาทและรีบแสดงจุดยืนให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน.

หน้าแรก » ภูมิภาค