วันอาทิตย์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:45 น.

ภูมิภาค

ยิ่งใหญ่! ชาวแปดริ้วเตรียมจุดตะเกียงโบราณกว่า 3 พันดวง ฉลองหลวงพ่อโสธร 130 ปี

วันพฤหัสบดี ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 18.57 น.
วันที่ 29 ต.ค.63 เวลา 14.00 น. นายสมเดช จิตรบุตร อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 ม.15 ต.คลองนครเนื่องเขต อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นักอนุรักษ์ของเก่าโดยเฉพาะตะเกียงโบราณ ซึ่งมีอยู่ในความครอบครองเป็นจำนวนมากถึงกว่า 200 ดวง ได้กล่าวเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ในคืนวันที่ 31 ต.ค.63 ตั้งแต่ช่วงเย็นก่อนเวลาพลบค่ำเป็นต้นไป ตนเองพร้อมด้วยกลุ่มเพื่อนฝูงนักอนุรักษ์ตะเกียงเจ้าพายุโบราณ ในนาม “กลุ่มสืบสานตำนานตะเกียง”
 
และในฐานะเลขาของกลุ่ม ซึ่งมีสมาชิกกว่า 4 พันคน ได้เตรียมระดมตะเกียงเจ้าพายุโบราณนานาชนิด จำนวนมากถึงกว่า 3 พันดวง มาจุดที่บริเวณริมเขื่อนเลียบลำน้ำบางปะกงด้านหน้า รพ.พุทธโสธร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นสิริมงคลถวายแด่องค์หลวงพ่อโสธร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเราชาว จ.ฉะเชิงเทรา และมีชื่อเสียงในระดับโลก เนื่องในโอกาสการจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธรครบรอบ 130 ปีในปีนี้
 
สำหรับตะเกียงโบราณที่จะนำมาจุดในคืนวันลอยกระทงในปีนี้ ล้วนเป็นตะเกียงทีมีอายุเก่าแก่ไม่ต่ำกว่า 100 ปี และเป็นที่นิยมของชาว จ.ฉะเชิงเทรา ในยุคนั้น ซึ่งถือว่าเป็นยุคเดียวกันกับการเริ่มต้นของการจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธร เพื่อใช้ในการส่องสว่างในช่วงเวลานั้น ซึ่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยตะเกียงในแต่ละดวงนั้นมีมูลค่าตั้งแต่ 5 พันบาทขึ้นไปจนถึงราคานับหมื่นบาท จากเดิมที่ราคาในสมัยนั้นก่อนเพียงร้อยกว่าบาท
นอกจากการนำตะเกียงโบราณมาจุดเพื่อเป็นการเสริมบารมีถวายแด่องค์หลวงพ่อโสธรในเทศกาลเดือน 12 ที่มีการจัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธรแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ตะเกียงโบราณที่คนในยุคอดีตเคยใช้ในการส่องแสงสว่างแล้ว ยังเป็นการนำมาจุดให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน หรือคนรุ่นหลังได้ดูและเรียนรู้ศึกษา และให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาได้เที่ยวชมตะเกียงเก่าแก่ ซึ่งเคยเป็นที่นิยมถูกใช้กันมาอย่างแพร่หลายยาวนานนับตั้งแต่ในสมัยอดีต ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา อีกด้วย
 
จากความนิยมอย่างสูงสุดของตะเกียงเจ้าพายุในสมัยนั้น ยังได้ส่งผลทำให้คนไทยได้เริ่มผลิตตะเกียงเจ้าพายุใช้เอง จนมีชาว อ.บางคล้า ตั้งโรงงานผลิตตะเกียงเจ้าพายุขึ้นมาแทนการนำเข้ามาจากต่างประเทศ คือ ตะเกียงตรากระต่ายคู่บางคล้า ตีตราโลโก้ “ประมวญภัณฑ์ใช้ฮวด” เพื่อจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ในราคาที่ถูกลง แต่ต่อมาโรงงานได้ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก สุดท้ายจึงได้ปิดตัวลงไปในที่สุด ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคของไฟฟ้าในปัจจุบันเมื่อกว่า 50 ปีก่อน นายสมเดช กล่าว
 
และกล่าวว่า สำหรับตะเกียงที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายจากต่างประเทศ และเป็นที่นิยมกันมาก คือ ตะเกียงเปโตแม็ก (Petromax) ไอด้าจากเยอรมัน ถูกนำเข้ามาจำหน่ายโดยห้างรัตนมาลาจำกัดสินใช้ (แยกพาหุรัต) ส่วนตะเกียงสแตนดาส (Standard) นั้นถูกนำเข้ามาจำหน่ายโดยห้างสีสง่า แต่ที่คนไทยนิยมใช้กันมากที่สุด คือ ตะเกียงเปโตแม็ก ยี่ห้อไอด้า ของห้างรัตนมาลา นายสมเดช กล่าว      

หน้าแรก » ภูมิภาค