วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 12:26 น.

ภูมิภาค

เกษตรกรโคเนื้อประจวบฯไม่รอ ซื้อวัคซีนฉีดป้องกันโรคลัมปี สกิน

วันพฤหัสบดี ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 16.44 น.

วันที่ 10 มิ.ย. นายสัตวแพทย์ยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่าขณะนี้ จ.ประจวบฯ มียอดสะสมโคเนื้อและโคนมป่วยติดเชื้อโรคลัมปี สกิน จำนวนกว่า 1,100 ตัว โดยพบการระบาดในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.สามร้อยยอด อ.ปราณบุรี อ.หัวหิน อ.เมือง อ.กุยบุรี อ.ทับสะแก และ อ.บางสะพานน้อย มีโคตาย 17 ตัว ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนปศุสัตว์อำเภอได้เร่งลงพื้นที่ติดตามรักษาอาการโคป่วยตามที่ได้รับแจ้งจากเกษตรกร พร้อมระดมฉีดพ่นยาฆ่าแมลงพาหะนำโรค และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลัมปี สกินในโคและกระบือ โดยโรคนี้มีอัตราการป่วยตายร้อยละ 10 สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนการจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน เพื่อนำมาฉีดให้กับสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร เบื้องต้น จ.ประจวบฯ จะยังไม่ได้รับวัคซีนที่นำเข้ามาล็อตแรก 60,000 โด๊ส เนื่องจากวัคซีนล็อตนี้จะมีการกระจายไปให้กับจังหวัดที่มีการเกิดโรคใหม่ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค.64 ได้แก่ จ.พะเยา นครราชสีมา และจังหวัดที่มีการระบาดเพิ่มมากขึ้นในระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค.64 ได้แก่ จ.ศรีสะเกษ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย พิษณุโลก สกลนคร และร้อยเอ็ด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมปศุสัตว์กำลังจะมีการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมอีก 3 แสนโด๊ส ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดสรรมาให้กับ จ.ประจวบฯ ได้

 

 

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ โดยให้ฉีดในตำบลที่ไม่มีโรค รัศมี 5-25 กม. รอบจุดเกิดโรค ฉีดเฉพาะหมู่บ้านที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้ามาในหมู่บ้านในระยะเวลา 30 วันก่อนฉีด และภายหลังการฉีดวัคซีนจะต้องไม่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ภายในระยะเวลา 30 วัน โดยก่อนฉีดวัคซีนจะต้องสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดจากโคและกระบือที่จะได้รับการฉีดวัคซีนตำบลละ 20 ตัว ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ฉีดต้องเป็นสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ หรือสัตวแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพชั้น 1 จากสัตวแพทยสภาที่ร่วมปฏิบัติงานตามแผนที่กรมปศุสัตว์กำหนด ส่วนโคและกระบือที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้องทำเครื่องหมายโดยการตีตราเย็นที่ตัวสัตว์เป็นอักษร “L” หรือ “X” บนหัวไหล่ด้านซ้าย หรือติดเบอร์หูตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด สำหรับสัตว์ที่จะได้รับการพิจารณาฉีดวัคซีนต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วย โดยวัคซีนมีความปลอดภัยสามารถฉีดให้กับโคหรือกระบือที่ตั้งท้องได้ ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ฉีดวัคซีนแล้วให้เริ่มฉีดที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีน อาจเริ่มฉีดวัคซีนได้ทุกช่วงอายุเมื่อลูกสัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย

 

 

นายกิตติเดชา สวียานนท์ เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ที่บ้านโคกตาหอม ต. อ่างทอง อ.ทับสะแก กล่าวว่าที่ผ่านมาเจ้าของโคเนื้อส่วนใหญ่ในพื้นที่ อ.ทับสะแกและเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ในหลายอำเภอไม่รอวัคซีนฟรีจากทางราชการ โดยซื้อวัคซีนเถื่อน 25 โดส ราคา 2,200 บาท ในตลาดมืดนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านฉีดให้โค เพื่อบรรเทาปัญหาหากมีโคล้มตายหรือเจ็บป่วยซึ่งไม่คุ้มค่ากับการรับเงินเยียวยา เนื่องจากทราบว่ากระบวนการจัดสรรวัคซีนยังล่าช้า ในภาคอีสานที่มีการระบาดอย่างหนักยังไม่ได้รับวัคซีน 6 หมื่นโดสที่นำเข้าล๊อตแรก ส่วนปัญหาโคตั้งท้องจะฉีดได้หรือไม่ จากการศึกษาผลวิจัยของนักวิชาการในต่างประเทศระบุว่าควรฉีดวัคซีนให้โคได้ก่อนคลอด 3 เดือน ทำให้ลูกโคที่คลอดใหม่กินนมแม่โคในระยะ 3 เดือนจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้ด้วย

 


ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์กำหนดแนวทางการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนเพื่อมาใช้ในการป้องกันโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ จากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น จากการประชุมของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมาได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ส่งมอบวัคซีนพร้อมกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนตามหลักวิชาการสำหรับวัคซีนลัมปี สกิน ล็อตแรกจำนวน 60,000 โดส และ 300,000 โดส ที่มาถึงในสัปดาห์นี้ และที่สำคัญคือพร้อมที่สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงโค-กระบือ ตลอดจนภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีนเพื่อนำมาใช้ฉีดป้องกันโรคและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนลัมปี สกินยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. การนำเข้ากรมปศุสัตว์จึงจะทำหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้เลี้ยงโค-กระบือ หรือภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ได้มีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติและรายละเอียดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว.

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค