วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 10:46 น.

ภูมิภาค

ควันหลงรำบูชาพญานาค วันที่ 7 เดือน 7 แห่ชื่นชม”ชมพู่ พรพรรณ” มือเซตเบอร์ 1 ไทย ลีลาอ่อนช้อยสวยงาม

วันอาทิตย์ ที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 10.24 น.

วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เป็นวันที่สองของงานสมโภชองค์พญาศรีสัตตนาคราช ระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566 หรือเรียกกันติดปากว่า วันที่ 7 เดือน 7  โดยผู้สื่อข่าวได้รายงานถึงบรรยากาศทั่วไป ยังคงคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทำบุญกราบไหว้ขอพร ในพิธีบวงสรวงองค์นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล ที่ประดิษฐานมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อแสดงออกถึงความเคารพศรัทธาของพี่น้องชาวไทย-ลาว ที่มีความเชื่อผูกพัน อยู่กับองค์พญานาค ตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นต้นมาล้วนศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลปักปักษ์รักษาแถบลุ่มน้ำโขง รักษาพุทธศาสนา รวมถึงองค์พระธาตุพนม   

โดยมีวัตถุประสงค์การก่อสร้างองค์พญาศรีสัตตนาคราช เพื่อเป็นการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อเกี่ยวต่อเรื่องพญานาคของชาวไท และชาวลาวที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อีกทั้งยังต้องการยกระดับ แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งสถานที่แห่งนี้ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  ถือเป็นเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชายแดน เป็นประจำทุกปีก็มีการรำบวงสรวงจากนางรำ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนมทั้ง 12 อำเภอทุกวัน เพื่อความเป็นสิริมงคล แสดงออกถึงความเชื่อความศรัทธา และความผูกพันต่อองค์พญานาค

สำหรับคืนวันที่สองนี้ ได้รับเกียรติจากน้องซานต้า-ศศรส สุวัฒนาพร ดารา นักแสดง เป็นนางรำต้นโดยไม่มีค่าตัว โดยดาราสาวแสดงเจตจำนงขอรำบวงสรวงต่อองค์พ่อปู่ ด้วยความเคารพศรัทธาอย่างแท้จริง ประกอบกับปีนี้ทางจังหวัดไม่มีนโยบายว่าจ้างศิลปินดังมารำบวงสรวง เปิดโอกาสให้ดารานักแสดงที่มีจิตอาสา เสนอตัวเข้ามารำโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมี ไฮไลน์สำคัญถือเป็นครั้งแรกของงานสมโภช โดยมีการ แสดงบินโดรนกว่า 500 ลำ จากสถาบันพระปกเกล้า ร่วมสร้างสีสัน โชว์แสงสี เป็นภาพสถานที่สำคัญของ จ.นครพนม รวมถึงเป็นการแปรอักษรเป็นคำขวัญของจังหวัดนครพนม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ที่รอชมแน่นริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม

 ทั้งนี้ผลจากการกำเนิดแลนด์มาร์กพญานาค ส่งผลดีทำให้ยอดจำนวนประชาชน นักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีละ 4 -5 หมื่นคน เป็นปีละกว่า 1 ล้านคน มีสถติการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดนครพนมคึกคักตลอดทั้งปี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว โรงแรม ที่พักถูกจับจองเต็ม รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร ร้านของฝาก พลอยจำหน่ายขายของกันถ้วนหน้า ยิ่งช่วงวันหยัดยาว หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนายิ่งคึกคักทวีคูณ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ว่า ในวันเปิดรำบวงสรวงวันแรก คือ วันที่ 7 กรกฎาคม 2566 มีคอมเมนต์จากนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก เพราะมีลูกหลานหน่อเนื้อชาวนครพนมโดยกำเนิดอย่าง น้องไผ่หลิว-กมลวลัย ประจักษ์รัตนกุล มิสแกรนด์นครพนม 2023 และ มือเซตตัวเก่งของไทย น้องชมพู่-พรพรรณ เกิดปราชญ์ กัปตันวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย เป็นนางรำบวงสรวงต้น โดยทั้งสองคนไม่มีค่าตัวในการว่าจ้างแม้แต่บาทเดียว แต่ด้วยความเป็นคนนครพนมน้องไผ่หลิว แม้จะมีคิวยาวติดต่อกันมากมาย แต่ได้จัดเวลาขอรำบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช จึงได้รำบูชาแค่เพลงเดียว คือ เพลงรำศรีโคตรบูรณ์ ที่เป็นเพลงรำประจำจังหวัดนครพนม ก่อนจะขอตัวเดินทางกลับ กทม. เพราะมีคิวงานรออยู่

ขณะที่น้องชมพู่มือเซตอันดับ 1 ของไทย หลังจบซีซั่นการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเนชั่นส์ ลีก 2023 หรือ VNL ก็รีบเดินทางกลับบ้านเกิดทันที ขอรำบูชาองค์พญาศรีสัตตนาคราชร่วมกับน้องไผ่หลิว และก็ไม่ทำให้ผิดหวัง น้องชมพู่ไม่ได้เก่งเฉพาะในสนามเท่านั้น หลังถอดชุดนัดกีฬาวอบเล่ย์บอล สวมชุดไทยอีสานรำถวายพ่อปู่พญานาค ด้วยลีลาที่สวยงามอ่อนช้อย ที่ไม่มีใครเห็นน้องชมพู่ในลีลานี้มาก่อน จึงเรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้องรอบบริเวณดังกล่าว แม้จะมีอากาศอบอ้าวแต่น้องชมพู่ก็รำจนจบรวม 7 เพลงด้วยกัน หากเป็นการว่าจ้างก็เรียกว่าทำเกินค่าตัว ร่ายรำจนเหงื่อโซมกาย โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่าตนถือกำเนิดเป็นลูกหลานพระธาตุพนม เรียนหนังเติบโตจนก้าวไปสู่วงการวอลเล่ย์บอล ถ้ามีเวลาว่างจากการแข่งขัน พร้อมเสมอในการเข้าร่วมกิจกรรมของจังหวัดนครพนม

หน้าแรก » ภูมิภาค