วันอาทิตย์ ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:32 น.

ภูมิภาค

เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นปชช. สร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขนาบข้างเวลโกรว์บางปะกง

วันศุกร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568, 17.59 น.

วันที่ 16 พ.ค.68 เวลา 08.30 – 12.00 น. ที่วัดเกาะแก้ว ตั้งอยู่เลขที่ 84 ม.7 ต.บางพลีน้อย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปาการ ผู้ก่อตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมอารยะ ซึ่งนำโดยนายภัทรภูมิ สว่างพร้อม ผอ.บริหารจัดการเมืองและที่ดิน บริษัทอารยะแลนด์ ดิเวลลอปเม้นท์จำกัด พร้อมทีมงานบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

เพื่อเดินหน้านำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพิจารณา ประกอบคำขอจัดตั้งสร้างเป็นนิคมอุตสาหกรรมอารยะขึ้น บนเนื้อที่จำนวน 1,892 ไร่ จากที่ดินของโครงการจำนวนกว่า 4,600 ไร่ท่ามกลางข้อสงสัยและกังวลใจจากประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด (สมุทรปราการและฉะเชิงเทรา) เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ใกล้กับแนวตะเข็บรอยต่อของทั้ง 2 จังหวัด และยังใกล้กันกับนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ใน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมเอเชียสุวรรณภูมิ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

โดยมีประชาชนจากทั้ง 2 จังหวัดได้ให้ความสนใจ เดินทางมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นจำนวนกว่า 700 คน ท่ามกลางข้อห่วงกังวลต่อปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษที่อาจจะเกิดขึ้น ปัญหาน้ำท่วมจากการขุดถมดินและสร้างโรงงานจากสภาพเดิมพื้นที่เป็นแก้มลิงท้องทุ่งรับน้ำฝนเดิม ปัญหาน้ำเสียที่อาจส่งผลกระทบต่อบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาของราษฎรซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่ ปัญหาขยะที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามมา รวมถึงกากอุตสาหกรรม และปัญหาด้านการจราจรที่จะทวีความหนาแน่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นจากแรงงานต่างด้าว

โดยที่ นายกฤต ศรีบุญเรือง ชาวบ้าน ม.7 ต.บางพลน้อย อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ได้กล่าวถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วต่อชุมชน ทั้งที่โครงการยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีการจัดตั้ง คือ ปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาตั้งแคมป์ทำงานในไซด์งาน ได้มีการทิ้งขยะกระจัดกระจายเกลื่อนไปทั่วทั้งพื้นที่สร้างความเดือดร้อนต่อคนในชุมชนดั้งเดิม ทั้งยับขับรถใช้ยานพาหนะอย่างไม่มีระเบียบวินัย และไร้กฎระเบียบด้านการจราจร โดยนึกอยากจะเลี้ยวก็เลี้ยว อยากจะหยุดแบบทันทีทันใดก็หยุด จึงถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนโดยตรงที่เกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกจำนวนหลายราย ที่ได้พยายามซักถามถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และอยากขอให้มีตัวแทนจากทุกหมู่บ้านในรัศมี 5 กม.อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 คนได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการในการมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบผลกระทบ หรือมีการจัดตั้งเป็นคณะอนุกรรมการร่วมกันกับทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐและทางนิคมอุตสาหกรรมในการดูแลพื้นที่และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา เพื่อให้เกิดการเยียวยาแก้ไขปัญหาและชดเชยกลับคืนมาสู่คนในชุมชน

หน้าแรก » ภูมิภาค