ภูมิภาค
โคราชเตือน! เห็ดป่าฤดูฝน เสี่ยงตายถึงชีวิต สคร.9 เตือนเห็ดพิษคล้ายเห็ดกินได้ ชี้ “ไม่รู้จัก-ไม่แน่ใจ-ไม่เก็บ-ไม่กิน”
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

โคราชเตือนระวังการเก็บเห็ดป่า-เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมาโซ้ยเห็ดอันตรายถึงชีวิต สคร.9 ออกโรงเตือนเห็ดป่าบางชนิดมีลักษณะคล้ายกัน จนบางครั้งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเห็ดที่กินได้หรือเห็ดพิษ
นครราชสีมา วันนี้( 22 พฤษภาคม 2568 ) ที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยเรื่องการบริโภคเห็ดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะอันตรายจากการบริโภคเห็ดพิษว่า ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติหลากหลายชนิด มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกันมากและแยกได้ยาก โดยเฉพาะเห็ดในระยะดอกตูมซึ่งมีลักษณะคล้ายกันจนไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่าหากไม่มีความรู้ความชำนาญ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดนำเห็ดพิษมาประกอบอาหารจนเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ จึงอยากประชาสัมพันธ์ฝากเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระวังการเก็บเห็ดป่า และเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมารับประทาน เนื่องจากเห็ดป่าบางชนิดมีลักษณะคล้ายกัน จนบางครั้งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นเห็ดที่กินได้ หรือเห็ดพิษ เสี่ยงเสียชีวิตได้ ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร
ทั้งนี้สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 19 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ จำนวน 20 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 7 ราย อัตราป่วย 0.65 ต่อประชากรแสนคน , 2) จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 6 ราย อัตราป่วย 0.44 ต่อประชากรแสนคน , 3) จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 4 ราย อัตราป่วย 0.26 ต่อประชากรแสนคน และ4) จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 3 ราย อัตราป่วย 0.11 ต่อประชากรแสนคน กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 3 ปี รองลงมาคือ65 ปี ขึ้นไป และ 55-64 ปี ตามลำดับ
สำหรับชนิดของเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่พบบ่อย คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก เห็ดพิษชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับเห็ดระโงกขาว หรือเห็ดไข่ห่านซึ่งเป็นเห็ดกินได้ แตกต่างกันที่เห็ดระโงกขาวกินได้จะมีรอยขีดสั้นๆ เหมือนกับซี่หวีที่ผิวรอบขอบหมวก เมื่อผ่าก้านจะเห็นว่าก้านกลวง เห็ดระโงกพบมากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม มักพบในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าที่มีลักษณะค่อนข้างโปร่ง มีแสงแดดส่องถึงพื้นล่าง และที่สำคัญคือมีไม้วงศ์ยางนา เช่น ยางนา ตะเคียน กระบาก รัง พะยอม หลังกินเห็ดระโงกพิษมักไม่เกิดอาการทันทีแต่จะมีอาการหลัง 4 - 6 ชั่วโมงไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์แม้อาการจะดีขึ้นในช่วงแรกก็ตาม เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที พิษอาจทำลายตับและทำให้เสียชีวิตได้แม้กินเพียงดอกเดียว ส่วนเห็ดพิษอีกชนิดหนึ่งที่มักทำให้รับประทานเข้าไปแล้วเกิดอาการป่วยหรือเสียชีวิต นั่นคือ เห็ดถ่านเลือด ดอกจะมีขนาดใหญ่และหนา หลังดอกมีสีดำเล็กน้อย เมื่อหักก้านเนื้อสีขาว จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีแดง ชาวบ้านจึงเรียกว่าเห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายเห็ดถ่านใหญ่และเห็ดถ่านเล็ก พบมากช่วงเดือนกรกฎาคมมักขึ้นใต้ต้นเหียง (ซาด) และต้นพะยอม หากรับประทานเข้าไปภายใน 2 ชั่วโมงจะเกิดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร หลังจาก 6 ชั่วโมง จะมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย จนกระทั่งตับและไตวายและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดมีพิษจะกลายเป็นสีดำ ซึ่งวิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้
ส่วนอาการหลังกินเห็ดพิษมีตั้งแต่เล็กน้อย ได้แก่ วิงเวียน อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวจนถึงอาการรุนแรง ไตวาย ตับวาย และเสียชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากที่บ้านมีผงถ่านกัมมันต์หรือผงคาร์บอน ให้รีบกินเพื่อดูดซับพิษและจิบน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่เสียไป ที่สำคัญควรรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พร้อมแจ้งประวัติการกินเห็ดและนำตัวอย่างเห็ดที่เหลือหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย ไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน เช่น การล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพราะอาจทำให้สำลัก เกิดการติดเชื้อ เกิดแผลในคอและช่องปาก ความดันต่ำหรือระดับเกลือแร่ผิดปกติจากการอาเจียนที่มากเกินไป เนื่องจากพิษจากเห็ดทำให้อาเจียนมากอยู่แล้ว
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเก็บและกินเห็ดป่า เห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ไม่รู้จักหรือไม่แน่ใจว่ากินได้ ไม่เก็บเห็ดบริเวณที่มีการใช้สารเคมี เนื่องจากเห็ดจะดูดซับพิษจากสารเคมีมาไว้ในดอกเห็ด และไม่กินเห็ดดิบ เช่น เห็ดน้ำหมาก หรือกินเห็ดร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่วที่ขึ้นตามธรรมชาติ เพราะจะทำให้เกิดพิษได้ พึงระลึกเสมอว่าเห็ดพิษทุกชนิดแม้ทำให้สุกด้วยความร้อนก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ และที่สำคัญ คือ “เห็ด ไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่เก็บ ไม่กิน” หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » ภูมิภาค
Top 5 ข่าวภูมิภาค
![]()
- มือมีดรับสารภาพ! ฟันหลานเลือดอาบ หลังทะเลาะเดือดกลางบ้าน 23 พ.ค. 2568
- คณะกรรมการสถานศึกษามหาราช 7 มีมติไม่รับครูคืนโรงเรียน หวั่นกระทบครู-นักเรียน 23 พ.ค. 2568
- “มาดามหน่อย” ลุยหนุนการศึกษา โคราชยกเครื่องสร้างอนาคตด้วยทุน 23 พ.ค. 2568
- ปะทะเดือด! ทหารกะเหรี่ยง-เมียนมา ที่เมืองบอระแค๊ะ หามคนเจ็บส่งโรงพยาบาลขุนยวมโกลาหล 23 พ.ค. 2568
- ดับสยองสองหนุ่ม ประสานงากระบะสยอง 23 พ.ค. 2568
ข่าวในหมวดภูมิภาค
![]()
พะเยา จัดยิ่งใหญ่! เทศกาลงานลิ้นจี่ของดีอำเภอแม่ใจ ปี 68 21:26 น.
- ชาวกาฬสินธุ์เฮ! รมช.คมนาคมลงพื้นที่เล็งพัฒนาเส้นทาง 3 อำเภอ มุ่งสู่เมืองแหล่งท่องเที่ยว 20:59 น.
- หนองคาย ขนส่งเคาะประมูลเลขสวยหมวด กท 20:33 น.
- แฉทำกันเป็นขบวนการใหญ่ นายทุน ผู้มีอิทธิพล จนท.รัฐ เก็บปาล์มน้ำมันในป่าสงวนพื้นที่หมดสัมปทานกว่า 2 หมื่นไร่ 20:26 น.
- อาถรรพ์เชือกแดง! ดช.วัย 11 ปี แกล้งคล้องเล่นสุดท้ายตายจริงคาบ้าน 20:06 น.