วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 02:15 น.

สังคม-สตรี

สนช. ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญ ม.ศิลปากร จัดงานแสดงนิทรรศการ Bloom 2022: The Southern Blooming อวดโฉม 20 ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ชายแดนใต้

วันพฤหัสบดี ที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2565, 13.11 น.

ปิดฉากไปแล้วอย่างงดงามกับงานแสดงนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน และนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์(The Southern Blooming) ผ่านการอวดโฉม 20ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี เป็นประธานเปิดในพิธีและร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยมีทางคณะผู้แทนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากร และตัวแทนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้การต้อนรับ ณ แพวิศวาดี (โกดังพี่ป๋อง) ถนนปัตตานีภิรมย์ ย่านเมืองเก่าปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา

นิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชน และนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ (The Southern Blooming) จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สนช.) ภายใต้ กิจกรรมการพัฒนาและสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ สำหรับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของพื้นที่ภาคใต้ชายแดน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ถือได้ว่าเป็นประตูเชื่อมโยงไปสู่ AEC ทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งผลงานที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ มีจำนวน 20 ผลงานเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทีมที่ปรึกษาและนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความเชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร 

โดยมีแนวคิดการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค พร้อมสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับสู่ตลาดสากลประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มอาหารและสมุนไพร กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก และกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน เช่น การปรับเปลี่ยนลวดลายผ้าบาติกและวัสดุที่ใช้ในการย้อมสี จากกลุ่มเก๋บาติก,การพัฒนาน้ำผึ้งมาเป็นเยลลี่น้ำผึ้ง จากร้านชันโรงแว้งที่รัก, การพัฒนาหน่อไม้กวนเป็นลูกอมหน่อไม้ จากวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตกรบ้านเตาะดีเม๊าะ, การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับเซรัมบำรุงผิวหน้า จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปรรูปพิกุลทอง OK DEE เป็นต้น ทั้งนี้กิจกรรมการจัดแสดงผลงานเปิดตลาดนวัตกรรมและกิจกรรมนิทรรศการมีเป้าหมายหลักเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับคนในพื้นที่เข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนา ซึ่งสามารถเป็นแนวทางในการขยายผลทางธุรกิจในอนาคต โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงเป็นการเปิดช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการผ่านกิจกรรมตลาดนวัตกรรม ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกร้านทั้งสิ้น 15 ราย ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม และจำหน่ายสินค้าหมดอย่างรวดเร็ว รวมถึงผู้ประกอบการบางรายยังได้รับยอดการสั่งซื้อผ่านการแสดงผลงานเป็นจำนวนมาก ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนนาในหัวข้อ “การสร้างโอกาสทางธุรกิจนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ สำหรับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์อย่างยั่งยืน” จากผู้ทรงคุณวุฒิจาก สนช.  และทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาอัตลักษณ์ให้สามารถเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและความคิดเห็นเพื่อการขยายผลเชิงพาณิชย์ต่อไป

ด้านความคิดเห็นจากทีมผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ ดร.เรืองลดา ปุณยลิขิต ผู้จัดการโครงการกิจกรรมการพัฒนาและสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ สำหรับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของพื้นที่ภาคใต้ชายแดน และอาจารย์ประจำหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาศิลปะการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจให้ผู้ประกอบการได้ก้าวข้ามขีดความสามารถและยกระดับสู่ตลาดสากล การจัดโครงการครั้งนี้ได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกหน่วยจนประสบความสำเร็จอย่างดี ผลการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าดีเกินคาดค่ะ”

อาจารย์ศุภชัย แกล้วทนงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ กล่าวว่า “โครงการนี้ ผมตั้งใจออกแบบโดยใช้ธีมงานให้เสมือนแพปลาด้วยสถานที่ติดกับแม่น้ำปัตตานีสะท้อนวิถีอาชีพของชาวบ้านที่ทำประมง เน้นโทนสีฟ้า-ขาวบวกกับการจัดแสงสีให้มีความตื่นตา ตื่นใจสำหรับผู้ที่เข้าชมกิจกรรมครั้งนี้ ครับ”

จากการจัดโครงการดังกล่าว ทำให้ได้รับข้อเสนอแนะและผลตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิเช่น

- นายลุกมาน นิเลาะ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงชันโรง อำเภอแว้ง กล่าวว่า “ขอบคุณที่มีโครงการนี้ ซึ่งผมเป็นทีมน้องใหม่พึ่งรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนได้เพียง 1 ปี ทำให้คนรู้จักแพร่หลาย การพัฒนาต่อยอดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเด็กที่เป็นโควิดได้ทานน้ำผึ้งชันโรง โดยแปรรูปเป็นขนมเยลลี่เพื่อให้ทานง่ายขึ้นซึ่งผู้ปกครองให้ความสนใจสินค้าตัวนี้มากอยากให้ลูกหลานได้ทานครับ”

- นางสาวณัชมีย์ ดอเล๊าะห์ วิสาหกิชุมชนหัตถกรรมกระจูด  Chang กล่าวว่า “เป็นโครงการที่ดีมาก มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำช่วยต่อยอดจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ ให้พัฒนาเป็นกระเป๋ารูปแบบใหม่ที่สวยงาม ถูกใจ ลูกค้าให้ความสนใจซื้อและสั่งจองกันมามากขึ้นเลยค่ะ”

สำหรับผู้ที่สนใจสินค้าชุมชนอัตลักษณ์ชายแดนใต้ และพลาดการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อสินค้าได้ที่เพจ Bloom: The Southern Blooming สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  093-729-1665 คุณศิริเพ็ญ

 

หน้าแรก » สังคม-สตรี