วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 11:19 น.

อาชญากรรม

สสส.ประชุมทิศทางกฎหมายกัญชา-กระท่อม โพลหนุนเปลี่ยนกม.จากพืชยาเสพติดเป็นพืชยารักษาโรค

วันเสาร์ ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561, 16.16 น.

สสส.ประชุมทิศทางกฎหมายกัญชา-กระท่อม

โพลหนุนเปลี่ยนกม.จากพืชยาเสพติดเป็นพืชยารักษาโรค

 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล นายจิตรนรา นวรัตน์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ดร.นพดล กรรณิกา ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ และนพ.คำนวน อึ้งชูศักดิ์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุม เรื่อง “กฎหมายยาเสพติด กัญชา กระท่อม การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด ทิศทางและแนวโน้มของกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น” โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

นายจิตรนรา เปิดเผยว่า  สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC  เป็นผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติด โดยกำหนดพืชที่เป็นสารเสพติดหลักของโลก 3 ชนิด ได้แก่ กัญชา ฝิ่น และโคคา (ไทยไม่มีโคคา) ในส่วนของกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดนั้น UNODC ยินยอมให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และนำมาค้นคว้าวิจัยได้ ดังนั้น การจะบอกว่ากัญชาต้องไม่เป็นยาเสพติด เสพได้เสรี จึงไม่เป็นจริง เนื่องจากมีกระบวนการควบคุมที่เคร่งครัด รวมถึง อย่าพึ่งหวังไปไกลว่าจะส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกกัญชาเพื่อส่งออก เพราะต้องไปแก้ไขกฎหมายระหว่างประเทศอีกมาก อย่างไรก็ตาม หากเป็นการปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็ต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด  สำหรับกระท่อม ไม่ได้มีข้อห้าม

 

“ในส่วนของกระท่อม ปัจจุบันยังเป็นยาเสพติดอยู่ การจะปล่อยไปทันทีโดยไม่มีมาตรการรองรับก็สุ่มเสี่ยงว่าจะมีมาตรการควบคุมเพียงพอหรือไม่ จึงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจเริ่มต้นโดยการยอมให้เสพได้โดยไม่มีความผิดในบางพื้นที่ที่มีกระท่อมโดยธรรมชาติ ถ้ายังสามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบวงกว้าง ไม่มีการแปรรูป หรืออันตรายจากการเสพ จึงขยายพื้นที่และเพิ่มหลักการ เมื่อถึงระยะที่เหมาะสมถึงปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดได้”

 

ด้าน ดร.นพดล เปิดเผยว่า สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL)มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ได้ทำการสำรวจภาคสนาม เรื่อง กฎหมาย กระท่อม กัญชา กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,055 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-14 ธ.ค.61ซึ่งเสร็จสิ้นช่วงเช้าวันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 81.65 เคยได้ยินประโยชน์ของกัญชา ส่วนร้อยละ 69.89 เคยได้ยินประโยชน์ของกระท่อม ขณะที่คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.91 เชื่อว่ากัญชาเป็นยารักษาโรคได้ และร้อยละ 61.31 เชื่อว่ากระท่อมเป็นยารักษาโรคได้

 

นอกจากนี้ ร้อยละ 76.46สนับสนุนเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้กระท่อม กัญชา จากพืชยาเสพติด เป็นพืชยารักษาโรคได้ โดยเกินครึ่ง คิดเป็นร้อยละ 55.84 เชื่อมั่นแก้กฎหมายกัญชาและกระท่อม ไม่ยอมให้ต่างชาติแทรกแซง ส่วนที่เหลือร้อยละ 44.16 ไม่เชื่อมั่น  สำหรับกรณีการจดทะเบียนสิทธิ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.41 ไม่ยินยอมให้ต่างชาติมาจดทะเบียนสิทธิใช้ประโยชน์จากกัญชาของประเทศไทย และร้อยละ 96.14 ไม่ยินยอมให้ต่างชาติมาจดทะเบียนสิทธิใช้ประโยชน์จากกระท่อมของประเทศไทย.

 

หน้าแรก » อาชญากรรม