วันเสาร์ ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 08:20 น.

การศึกษา

สจล. เปิดโมเดลการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน BKK” นวัตกรรมอุโมงค์ใต้ดินเก็บน้ำ

วันอาทิตย์ ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 14.35 น.

สจล. เปิดโมเดลการก่อสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน BKK”  นวัตกรรมอุโมงค์ใต้ดินเก็บน้ำ

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เทคโนโลยีอันก้าวหน้าในปัจจุบัน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสังคม ประเทศชาติ และวิถีชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจากยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปัจจุบันทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ให้ความสำคัญและนำร่องผลักดันรูปแบบการพัฒนากรุงเทพมหานคร ไปสู่การเป็น “นครอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ดี หนึ่งปัญหาใหญ่ที่กรุงเทพฯ กำลังประสบ และได้รับการพูดถึงจากสังคมเป็นอย่างมาก มิใช่ปัญหา “อุทกภัย” แต่เป็น “ปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฝนตก” อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การคมนาคม ตลอดจนก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของไอเดียนวัตกรรม “แก้มลิงใต้ดิน BKK” ตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9

“โครงสร้างกรุงเทพฯ เป็น แอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าระดับแหล่งน้ำ เมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้ เพราะท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย สูงกว่าถนน และแม้ว่ากรุงเทพฯ จะมี ‘อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ’ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยขีดความสามารถในการระบายน้ำที่จำกัด และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำไประบายได้เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีปริมาณน้ำรอระบายบนพื้นถนนมากเกินไป จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง เทคโนโลยีที่จะนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็คือการสร้าง แก้มลิงใต้ดินตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ซึ่งที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีการสร้างแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน และสามารถเก็บน้ำได้มากถึง 350,000 ลูกบาศก์เมตร”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แก้มลิงใต้ดิน BKK เป็นนวัตกรรมอ่างเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านใน สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดินขึ้น และสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ พร้อมเชื่อมกับระบบท่อระบายอื่นๆ ของกทม. เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนน ไปกักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ สจล. มีแนวคิดการพัฒนานำร่องในพื้นที่สวนเบญจกิติ บนพื้นที่กว่า 130 ไร่ มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร ใน 4 เขต คือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตสาทร และเขตยานนาวา ครอบคลุมย่านเศรษฐกิจชั้นในทั้งย่านพระราม 4 สุขุมวิท คลองเตย และสาทร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะปราศจากปัญหาเมื่อทำการก่อสร้าง และปัญหาเวนคืนที่ดิน โดยสามารถรองรับปริมาณน้ำได้กว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที โดยคาดคะเนมูลค่าการลงทุนก่อสร้างราว 1,000 ล้านบาท ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ ชั้นใน ย่านดังกล่าว ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากน้ำรอระบายอีกต่อไป

“จากการวิจัยพบว่า หากมีพื้นที่น้ำท่วมขังราว 50% ของพื้นที่กรุงเทพ เป็นระยะเวลา 120 นาที จะก่อให้เกิดมูลค่าการสูญเสียทางเวลาและเศรษฐกิจสูงกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งหากเราลดระยะเวลาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลงมาเหลือ 15 นาที จะมีมูลค่าการสูญเสียเพียง 60 ล้านบาท หรือเท่ากับสามารถลดมูลค่าการสูญเสียได้กว่า 440 ล้านบาท ในทุกครั้งที่ฝนตกน้ำท่วม และเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขมูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ในระยะเวลาน้ำท่วมขัง 2 ชั่วโมงต่อฝนตกหนึ่งครั้ง อยู่ที่ 0.0114% นับว่า ‘แก้มลิงใต้ดิน’ ใช้งบลงทุนที่น้อย แต่สามารถช่วยจัดการปัญหาเพิ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

จากวิเคราะห์ของสำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. พบว่า พื้นที่เสี่ยงเกิดภาวะน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนดังกล่าวข้างต้น การมีแก้มลิงใต้ดินจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมการออกแบบระบบส่งน้ำ เพื่อการแก้ไขแบบครบวงจร ต่อยอดการบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ เช่น การเพิ่มระบบการถ่ายน้ำออกจากแก้มลิงใต้ดินไปยังแหล่งน้ำโดยตรง ซึ่งจะทำให้แก้มลิงใต้ดินสามารถเก็บน้ำรอระบายจากพื้นดินได้เพิ่มขึ้น หรืออย่างการสร้างแก้มลิงใต้ดินในตรอกซอยที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ เช่น ย่านราชดำริ ย่านประตูน้ำ เป็นต้น โดยจะทำให้น้ำถูกถ่ายเก็บเข้าสู่แก้มลิงในซอยก่อน ไม่ทำให้ไปท่วมซอยในทันที นอกจากนี้หากมีการประยุกต์นวัตกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น นวัตกรรมบำบัดสภาพน้ำ ก็จะสามารถนำน้ำที่ถูกเก็บไว้ใต้ดิน กลับมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้อีกครั้ง

 
 

หน้าแรก » การศึกษา