วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 16:04 น.

การศึกษา

ธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธ : นวัตกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนายุค Disruptions

วันพุธ ที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 19.56 น.

ธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธ : นวัตกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนายุค Disruptions : พระปลัดสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ผศ.ดร. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รายงาน
 
บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อครั้งผู้เขียนได้เดินทางไปร่วมโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธในต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 25 - 30 กันยายน 2562  ณ วัดไทยนอร์เวย์ เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยมี พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานเดินทาง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับการจัดโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธในต่างประเทศ  2. เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลและสรุปผลของการจัดโครงการฯ  และ 3. เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการฯ 

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  โดยมุ่งเน้นการสัมภาษณ์ การประชุมกลุ่มย่อยและการสังเกตแบบมีส่วนร่วม กลุ่มประชากรผู้ให้ข้อมูล ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินโครงการฯ ผู้แทนองค์กรความร่วมมือ และผู้เข้าร่วมโครงการฯ  โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลและสรุปเนื่อหาจากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง แล้วเชื่อมโยงกับข้อมูล  ที่ได้จากการสัมภาษณ์  การประชุกลุ่มย่อย การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า 1.แนวคิดเกี่ยวกับการจัดโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธในต่างประเทศโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธเกิดจากความต้องการของภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยวิทยาลัยพระธรรมทูต บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยสมาคมสโมสรพนักงานการบินไทย และสหภาพชาวพุทธในนอร์เวย์   มีความจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถของธรรมทูตวิถีพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ เพื่อสร้างระบบและกลไกลความเป็นธรรมทูต สร้างเครือข่ายและส่งเสริมสนับสนุนความสามัคคี การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ รวมถึงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานในหมู่คนไทยและท้องถิ่น เป็นการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เกิดความภาคภูมิใจและตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของพุทธบริษัทที่ต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจและนำไปประพฤติปฏิบัติ (ประโยชน์ตน)  มีส่วนช่วยเผยแพร่เกื้อกูลให้บุคคลอื่นเข้าใจและนำไปประพฤติปฏิบัติ (ประโยชน์ท่าน) และสามารถปกป้อง เมื่อมีผู้กล่าวให้คลาดเคลื่อน หรือกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ถือได้ว่าเป็น “นวัตกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนายุค Disruptions” ที่ไม่เคยมีมาก่อน

2.ผลของการจัดโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธในต่างประเทศ ด้านปริมาณมีผู้ผ่านการเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน  328  คน จาก  11 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศนอร์เวย์ ประเทศฟินแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษอเมริกา ประเทศออสเตรีย ประเทศสวีเดน ประเทสเยอรมันนี ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และประเทศไทย จากการตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 200 คน   ด้านคุณภาพ จากการสัมภาษณ์  การประชุกลุ่มย่อย การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ตระหนักรู้ถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องทำหน้าที่ของความเป็นธรรมทูตวิถีพุทธในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์ ขณะเดียวกัน ภาคีเครือข่ายได้ระบบและกลไกลการจัดโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธ ได้เครือข่ายและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนความสามัคคี การเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาความเป็นธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธสำหรับคนไทยและท้องถิ่นในต่างประเทศ 

3.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการปฏิบัติ  3.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 1) โครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธในต่างประเทศ อาจจะต้องเสนอเป็นนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของมหาเถรสมาคม โดยมีวิทยาลัยพระธรรมทูตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและองค์กรภาคีเครือข่ายในต่างประเทศ ร่วมกันกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การทำงานเพื่อให้เกิดธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธไปทั่วโลก 2) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย ควรกำหนดเป็นนโยบาย ส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันสมทบหรือองค์กรเครือข่ายในต่างประเทศ จัดโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธขึ้นเพื่อเป็นการบริการวิชาการแก่สังคมในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา โดยจัดทำเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการจัดโครงการฯ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธ ระยะที่ 2 สร้างและพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธที่มีคุณภาพ และ ระยะที่ 3 ขยายผลหลักสูตรธรรมทูตคฤหัสถ์วิธีพุทธไปทั่วโลก

3.2 ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ 1) วิทยาลัยพระธรรมทูตและภาคีเครือข่าย ควรจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการจัดโครงการฯ ไว้บนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงและประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร เช่น พัฒนาการของโครงการฯ  ฐานข้อมูลคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมโครงการฯ  รายงานผลของการจัดโครงการฯ รูปภาพกิจกรรม ข้อสังเกต/เสนอแนะสำหรับการดำเนินการต่อไป เป็นต้น  2) ควรทำการวิจัยและพัฒนา(R&D) โดยนำผลที่ได้จากการจัดโครงการฯ หรือ หลักสูตรการอบรมแต่ละครั้งมาปรับปรุงพัฒนาและขยายผลไปใช้้ในพื้นที่อื่นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั้งได้คู่มือหลักสูตรที่ที่มีคุณภาพสามารถใช้ขยายผลไปทั่วโลกได้
         
3) ควรจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่เป็นการเพิ่มศักยภาพและเป็นความต้องการของของธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธ เช่น หลักสูตรสติศึกษาสำหรับธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธ, หลักสูตรพุทธจิตวิทยาเพื่อการให้คำปรึกษา, หลักสูตรศาสนพิธีกรสำหรับธรรมทูตคฤหัสถ์วีพุทธ เป็นต้น 4) ควรจัดกิจกรรมร่วมกันของธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธในแต่ละรุ่น อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งหรือตามโอกาสที่เหมาะสม สำหรับสถานที่ในการจัดโครงการฯ ควรใช้ระบบและกลไกลเช่นเดี่ยวกับโครงการธรรมทูตคฤหัสถ์วิถีพุทธในต่างประเทศ เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์การทำงานขององค์กรและภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะควรขยายผลโครงการฯ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย 
 

หน้าแรก » การศึกษา