วันพุธ ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 09:51 น.

การศึกษา

เจ้าคุณสวีเดนน้อมรำลึกบูชาธรรม ครบรอบ 93 ปีชาตกาลสมเด็จเกี่ยว

วันจันทร์ ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564, 12.38 น.

วันที่ 11 ม.ค.2564 พระวิเทศปุญญาภรณ์,ดร. เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน เปิดเผยว่า วันนี้(11 ม.ค.) นับเป็นวันครบรอบ 93 ปี ชาตกาลสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตประธานสมัชชามหาคณิสสร อดีตประธานสำนักงานกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ จึงถือโอกาสน้อมรำลึกบูชาธรรมในเจ้าประคุณสมเด็จ

"ภาพแห่งความทรงจำกี่วัน กี่เดือน กี่ปียิ่งเตือนและยิ่งเห็นชัดกับสัจธรรมคำสอนที่หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จ เมตตา มอบแสงสว่างทั้งทางโลกและทางธรรม ขอน้อมรำลึกบูชาคุณธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพพระมหานคร" พระวิเทศปุญญาภรณ์ กล่าวและว่า

สำหรับประวัติเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) นั้นมีนามเดิมว่า เกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471 นับแบบเก่า นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2472 (ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง)  ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถือกำเนิดในครอบครัวชาวจีนไหหลำ เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย่ (ยี โชคชัย) ครอบครัวโชคชัยมีอาชีพทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันทายาทสกุลโชคชัยหรือแซ่โหย่เปลี่ยนนามสกุลนั้นเป็น โชคคณาพิทักษ์

หลังจากสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2483 ก่อนที่จะถึงกำหนดวันเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากเด็กชายเกี่ยวหายจากป่วยไข้ ก็จะให้บวชเป็นเณร ภายหลังจากบนบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ 

ความตั้งใจเดิมของสามเณรเกี่ยว คือ การบวชแก้บนสัก 7 วัน แล้วก็จะลาสึกไปรับการศึกษาในฝ่ายโลก แต่เมื่อบวชแล้วได้เปลี่ยนใจ ไม่คิดจะสึกตามที่เคยตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงได้พาสามเณรเกี่ยวไปฝากกับพระครูอรุณกิจโกศล (พริ้ง โกสโล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย  

ในเวลาต่อมา หลวงพ่อพริ้งได้นำไปฝากไว้กับอาจารย์เกตุ คณะ 5 ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากนั้นเป็นเวลาไม่นาน กรุงเทพมหานครต้องประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด หลวงพ่อพริ้งจึงได้รับตัวพาไปฝากท่านอาจารย์มหากลั่น ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา เมื่อสงครามสงบ หลวงพ่อพริ้งได้พากลับไปที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเวลานั้น ท่านอาจารย์เกตุ ได้ลาสิกขาบทไปแล้ว หลวงพ่อพริ้งจึงพาฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนา เป็นพระธรรมเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ) 

ท่านได้ศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร  ต่อมา เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีพระธรรมวโรดม (อยู่ ญาโณทโย) เป็นพระอุปัชฌาย์  จนถึงปี พ.ศ. 2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
         
พระวิเทศปุญญาภรณ์ กล่าวด้วยว่า โอวาทเจ้าคุณสมเด็จฯ ตอนหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาท แก่ พระธรรมทูตอาสา ว่า "หากไม่มีพระสงฆ์ ในพื้นที่ ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง ...ก็ชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว ขอให้ทุกองค์หนักแน่น มั่นคง อยู่เป็นกำลังใจให้ชาวพุทธ ถึงแม้วันหนึ่งวันใดข้างหน้า พระพุทธศาสนาจะหมดไปจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ขอให้วันนั้น มีพระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย" 

นับเป็นแสงแห่งจิตวิญญาณความมั่นคงพระพุทธศาสนา แสงสุดท้าย ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความรักในพระพุทธศาสนา ผ่านพระธรรมทูตอาสา อันเป็นอมตะวาจาที่จะตรึงใจเหล่าพุทธบุตร ผู้ทำหน้าที่พระธรรมทูตอาสา ไปตราบนานเท่านาน ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก จนพระพุทธศาสนาเบ่งบานกลางหิมะในโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ 

เป็นเหตุให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ นับได้ว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ จะถูกจดจำ เล่าขานถ่ายทอดสืบต่อกัน จนกลายเป็นตำนาน จากตำนานกลายเป็นประวัติศาสตร์ จากประวัติศาสตร์กลายเป็นความทรงจำของโลก ที่สุดแล้ว นามของพระมหาเถระท่านนี้ ก็จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของโลก ในนามผู้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานยังแผ่นดินตะวันตกอันไกลโพ้น ตลอดไป 

(หมายเหตุขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย,สนง.ส่งเสริมจริยธรรม วัดสระเกศฯ) 

หน้าแรก » การศึกษา