วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 08:59 น.

การศึกษา

เปิดท่องเที่ยววิถีใหม่ไหว้หลวงพ่อรอดวัดสารอด "เที่ยวไป ตามทาง สว่าง โมเดล"

วันศุกร์ ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2564, 20.11 น.

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา คณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ นำโดยพระศรีธีรพงศ์ เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ พระครูปลัดพรหมจริยวัฒน์ เจ้าคณะแขวงราษฎร์บูรณะ คณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. ประธานมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) และนางสาวอธิศรี วุฒิภาคภักดี ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ นายไสว โชติกะสุภา ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมเขตราษฎร์บูรณะ พร้อมคณะผู้บริหารเขตและเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสารอด คณะครู นักเรียน ประธานชุมชนรวมน้ำใจ ประชาชนในชุมชนเขตราษฎร์บูรณะ 

ถือว่าเป็นภาคีเครือข่ายได้ร่วมทดลองการท่องเที่ยววิถีใหม่ เป็นการเปิดเชิงสัญลักษณ์ไม่เอิกเกริกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ณ วัดสารอด แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด "เที่ยวไป ตามทาง สว่าง โมเดล" ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้งานวิจัยดุษฎีนิพนธ์ของหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา มจร. เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยววิถีสันติภาพอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา วัดบ้านขะยูง จ.ศรีสะเกษ 

ก่อนเริ่มการท่องเที่ยวทางวัดสารอดได้มอบทุนการศึกษาและมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่นักเรียน ได้ความอุปถัมภ์จากมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) โดยมีผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ เป็นประธานมอบ

จากนั้นจึงเข้าสู่กิจกรรมการท่องเที่ยวไปตามทางสว่างโมเดล ได้แก่ จุดที่ 1 พระศรีธีรพงศ์ คล้องคอด้วยผ้าขาวเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ และคณะ จากนั้นหาบตระกร้าเดินเวียนประทักษิณรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์หน้าวิหารหลวงพ่อรอด 3 รอบ พร้อมสวดอิติปิโสฯ 1 จบ ผอ.เขตฯ อธิษฐาน แล้วยกตระกร้าที่หาบถวายพระศรีธีรพงศ์ แล้วโปรยดอกไม้บูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ (ลั่นฆ้องนำหน้าจนถึงพิธีโปรยดอกไม้) 

จุดที่ 2 เดินขึ้นวิหารหลวงพ่อรอด เพื่อกราบสักการะกล่าวคำบูชาหลวงพ่อรอด แล้วถวายขันธ์ 5 ขันธ์ 8 แด่หลวงพ่อรอด พระประธานศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดสารอด 

จุดที่ 3 เดินลงจากวิหารสู่ฐานท่องเที่ยวตามแนวคิด "เที่ยวไป ตามทาง สว่าง โมเดล"  ฐานที่ 1 พลังศรัทธา จากนั้นเที่ยวไปสู่ ฐานที่ 2 พลังเพียร สู่ ฐานที่ 3 พลังตื่นรู้ สู่ ฐานที่ 4 พลังมั่นคง สู่ ฐานที่ 5 พลังทางสว่าง โดยทุกฐานจะมีธรรมวิหารีน้อย (นำเสนอปริศนาธรรมเพื่อเสริมสร้างชีวิตและสังคมสันติสุข ประจำฐาน ประมาณ 3 นาที)  

จากนั้นได้เข้าห้องประชุม ณ ห้องประชุม "อุดมธรรมวิจัย" พระศรีธีรพงศ์ได้กล่าวว่า การดำเนินการกิจกรรม "เที่ยวไป ตามทาง สว่าง โมเดล"  ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ซึ่งได้รับความอุปถัมภ์จาก มูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) โดย พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. ประธานมูลนิธิฯ ตลอดถึงคณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูบูรณะ วัดสารอด จนเกิดการพัฒนาสร้างเจริญสู่วัดสารอด ตามหลักการ 5 ส 

นางสาวอธิศรี วุฒิภาคภักดี ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ ได้กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. ได้มีนโยบายปรับภูมิทัศน์ขุดลอกคลองราษฎร์บูรณะ โดยวันนี้มีรองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ที่สำคัญขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณฯ ที่เมตตาเจ้าหน้าที่ในเรื่องอาหารการกินในช่วงของการลงพื้นที่พัฒนาคลอง ทำให้มีพลังและทำงานกันอย่างเข้มแข็ง ทางสำนักงานเขตราษฎร์บูรณะพร้อมจับมือทำงานร่วมกันกับทางคณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อพัฒนาเขตราษฎร์บูรณะให้เกิดความเจริญและยั่งยืนต่อไป

นายไสว โชติกะสุภา ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมเขตราษฎร์บูรณะ ได้กล่าวว่า ผมขออนุญาตเป็นคนหนึ่งที่ดีใจแทนชาวราษฎร์บูรณะ ที่ธรรมชาติของวัดสารอดได้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะในอดีตวัดสารอดเคยเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในเขตราษฎร์บูรณะของเรา

พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. ประธานมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง)  กล่าวว่า เป็นบุญวาสนาที่ได้รับเมตตาจากเจ้าคุณอาจารย์ให้มาลุยงานพัฒนาวัดสารอดตลอดระยะเวลาห้าหกเดือน เป็นการเอาธรรมไปทำ โดยครูบาอาจารย์เมตตาเปิดโอกาสให้ได้สร้างบารมีด้วยการปลูกต้นไม้ก็ดี สร้างสะพานก็ดี สร้างที่อยู่อาศัยก็ดี อาตมาถือตามพุทธภาษิตว่า ชนเหล่าใดปลูกสวนอันน่ารื่นรมย์ ปลูกป่า สร้างสะพาน ขุดสระน้ำ บ่อน้ำ และให้ที่พักอาศัย บุญย่อมเจริญแก่ชนเหล่านั้น ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ ชนเหล่านั้นดำรงอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลแล้ว ย่อมไปสู่สวรรค์อย่างแน่นอน 

ตามที่ท่านเห็นการพัฒนาวัดสารอดในระยะเวลาอันสั้นนี้ที่เนรมิตขึ้นมาได้ ไม่ใช่อาตมาทำคนเดียวแต่เกิดขึ้นมาจากพลังศรัทธาของชุมชนและสังคมที่เห็นวัดสารอดทำอย่างจริงจังตั้งใจ อาตมาเป็นเพียงสะพานหนึ่งของการก้าวถึงความสำเร็จบางส่วนเท่านั้น เพราะการสร้างวัดไม่รู้จักเสร็จ สร้างวัดภายนอกมันไม่รู้จักจบ สร้างเสร็จใช้สอยนานไปเสื่อมโทรมก็ต้องบูรณะใหม่ แม้แต่การพัฒนาคลองถ้าจะให้ยั่งยืนต้องทำต่อเนื่องและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ หรือแม้แต่เรื่องการเที่ยวไปตามทางสว่างโมเดลที่วัดสารอดดำเนินการขึ้นครั้งแรกในวันนี้ ด้วยความที่อาตมาทำวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวมาก่อนภายใต้รูปแบบโพลวพลือโมเดล ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) ด้วย

การท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด "เที่ยวไป ตามทางสว่าง โมเดล" มีการเรียนรู้ตลอดเส้นทางทางการท่องเที่ยว ดังที่เราได้เห็นจากการนำเสนอของนักเรียนโรงเรียนวัดสารอดตามฐานท่องเที่ยวแต่ละฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 พลังศรัทธา จากนั้นเที่ยวไปสู่ ฐานที่ 2 พลังเพียร สู่ ฐานที่ 3 พลังตื่นรู้ สู่ ฐานที่ 4 พลังมั่นคง สู่ ฐานที่ 5 พลังทางสว่าง แต่ละฐานเชื่อมโยงกันไปจนสุดทางสว่าง คือ ปัญญา

โดยแต่ละฐานมีการเอาปริศนาธรรมมาเป็นสื่อการอธิบายธรรมเพื่อให้น่าสนใจและเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะการเทียบเคียงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การชี้แจง การชี้แจงก็เพื่อประโยชน์แก่ความเข้าใจ

วันนี้ได้กำเนิดคำทักทาย "สาธุ wisdom"  ดังจะเห็นจากนักเรียนผู้เป็นธรรมวิหารีน้อยทักทายก่อนนำเสนอ ที่มาของคำว่า  wisdom เกิดจากการนำเอาชื่อหลวงพ่ออดีตเจ้าอาวาสวัดสารอดมาบวกกับชื่อเจ้าคุณอุดม (พระศรีธีรพงศ์) เขียนเป็นอังกฤษ ได้คำว่า wisdom แปลได้ว่า ปัญญา (ทางสว่าง) ก็สอดคล้องกับแนวคิด เที่ยวไป ตามทาง สว่าง โมเดล ก็คิดว่าลงตัวดี

ปิดท้ายพระศรีธีรพงศ์ ได้กล่าวสรุปด้วยบทกลอนที่ประพันธ์โดยพระมหาวงศ์ศักดิ์ อาภากโร ป.ธ.9 วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กทม.ดังนี้

“บ้าน วัด ราชการ ประสานกิจ
เนรมิต สะพานเดินข้าม คลองน้ำใส
ปลูกสวนป่า งดงามล้วน สวนดอกไม้
ชนทั้งหลาย ได้พบเห็น ฉ่ำเย็นใจ

หมู่พฤกษา คลองธารา คุณค่าล้น
เพราะมวลชน ได้พักพิง อิงอาศัย
ป่า-ดิน-น้ำ จะอยู่รอด ตลอดไป
เราทั้งหลาย ควรรู้รักษ์ สามัคคี 

ขอเชิญชวน มวลประชา ราษฎร์-รัฐ-วัด
ชมภูมิทัศน์ วัดสารอด ตลอดวิถี
โมเดลเด่น เที่ยวตามทาง สว่างดี
กุศลมี บุญตามติด เป็นนิตย์เทอญ ฯ

หน้าแรก » การศึกษา