วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 12:58 น.

การศึกษา

ติวเข้มพัฒนาครูสอนพระพุทธศาสนา ตามแนวพุทธสันติวิธี สู่สันตินวัตกรรม

วันศุกร์ ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2565, 12.29 น.

วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๔  พระปราโมทย์ วาทโกวิโท,ดร. Peace FA วิทยากรต้นแบบสันติภาพ  อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  (มจร)  เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ได้ร่วมพิธีเปิดและร่วมแลกเปลี่ยนในการฝึกอบรมการพัฒนาครูผู้สอนพระพุทธศาสนาพุทธสันติวิธีผ่านออนไลน์ ซึ่งขับเคลื่อนพัฒนาตามหลักสูตรแบบบูรณาการเป็นสันตินวัตกรรม 

โดยมี ศน.ฑิมพิกา ญาธิป ซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ในการดูแลการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในโรงเรียนและเป็นนิสิตระดับปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา มจร เห็นได้ว่าการพัฒนาครูผู้สอนพระพุทธศาสนาพุทธสันติวิธีถือว่ามีความเร่งด่วนอย่างมาก โดยมีครูที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การเรียนรู้จำนวน ๒๐ คน 

โดยได้รับความเมตตาจากท่าน ดร.กิตติพงศ์ โด่งพิมาย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต ๑ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงนโยบายขับเคลื่อน โดยกล่าวประเด็นสำคัญว่า ปัจจุบันเราเจอสภาพปัญหาผู้เรียนจำนวนมากซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อสังคม ครูจึงมีความสำคัญมากโดยเฉพาะครูจัดการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนาเพราะจะเชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจะต้องบูรณาการกับศีล ๕ เป็นฐาน โดยครูจะต้องสามารถออกแบบการเรียนรู้วิชาพระพุทธศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมได้รับความสนับสนุนอย่างดียิ่งจากท่าน ดร.นัยนา  ตันเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๑ ในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรม 

โดยมีพระมหานพดล ธมฺมานนฺโท และทีมกระบวนกร กลุ่มงานพัฒนาพระสอนศีลธรรม มจร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน (สพฐ)   เป็นวิทยากรสร้างการเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ Seft-Reflection การจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ครูต้นแบบกัลยาณมิตร เรียนรู้พุทธศาสนาจากสรรพสิ่งรอบตัว สะท้อนการเรียนรู้กลุ่มใหญ่ การรสร้างศรัทธาพัฒนาสันติภายในแห่งพุทธะ รู้ใจเราเข้าใจศิษย์ สาธิตนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนา การออกแบบการเรียนรู้พระพุทธศาสนาโดยใช้อริยสัจเป็นฐาน 

และถอดบทเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงภายในตน โดยกล่าวสะท้อนเบื้องต้นว่าการสอนพระพุทธศาสนาผู้เรียนจะต้องคิดเป็น พระพุทธศาสนาจะต้องเรียนรู้ผ่านการลงทำลงมือปฏิบัติจึงสามารถให้เกิดผลอย่างแท้จริง ซึ่งเบื้องต้นมีการสะท้อนตนเองเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนา จำนวน ๖ ข้อ ๑)ความรู้สึกในการสอนพระพุทธศาสนาในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ๒)วิธีการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่ท่านเคยใช้คือวิธีการใด ๓)จุดเด่นของวิธีการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวนั้นมีจุดเด่นอย่างไร ๔)ข้อจำกัดของวิธีการจัดเรียนรู้มีข้อจำกัดอย่างไร ๕)จุดที่คุณครูควรเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้ของตนเองควรเพิ่มจุดใดบ้าง ๖)สิ่งที่คาดหวังจากการอบรมในครั้งนี้คืออะไร ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาครูอย่างดีเยี่ยม โดยมีการเรียนรู้การเป็นครูต้นแบบจากพระพุทธเจ้า        

การวิเคราะห์แก่นธรรมเชื่อมโยงสู่การจัดการเรียนรู้ ทักษะการเป็นครูโค้ชการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนา วิธีการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบใฝ่รู้  สามารถออกแบบการเรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบใฝ่รู้ และรู้ใจเราเข้าใจศิษย์ เข้าใจคนการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยการสอนวิชาพระพุทธศาสนาจะต้องให้ผู้เรียน “อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย” 

พระปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ได้แลกเปลี่ยนภายใต้ Story Telling ตามรอยบาทสร้างศรัทธาแดนพุทธภูมิ เพื่อให้ครูเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนาเข้าใจเข้าถึงความเป็นมาของการกำเนิดพระพุทธศาสนาเข้าใจคำสอนของพระศาสดา โดยมองถึงพุทธเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย และเนปาล พุทธตั้งอยู่ในศรีลังกา เมียนมาร์ ไทย ลาว พุทธดับไปในบังคลาเทศ อินโดนีเชียและประเทศอื่นๆ จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่สิ่งสำคัญจะต้องมีรักษา สืบสาน ต่อยอด โดยมีการพัฒนาครูผู้สอนและการจัดการเรียนรู้พระพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งพุทธศาสนาจะอยู่รอดจะต้องเป็นพุทธวิถี หมายถึงปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่พุทธแบบพิธีและพุทธแบบวิธีเท่านั้น จึงนำครูเข้าไปเรียนรู้ในดินแดนพุทธภูมิในประเทศอินเดียและเนปาล เพื่อสร้างการตระหนักรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นครูสอนพระพุทธศาสนาต่อไป จึงขออนุโมทนากับศน.ฑิมพิกา ญาธิป ซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาครูผู้นำต้นแบบการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาพุทธสันติวิธี 

หน้าแรก » การศึกษา