วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 09:37 น.

ภูมิภาค

รองผู้ว่าฯพังงา ประชุมร่วมมหาดไทย รับมือผลกระทบ "โนอึล"

วันเสาร์ ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563, 20.31 น.
วันที่ 19 กันยายน 63 นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายอำเภอ และส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์และเตรียมรับมือผลกระทบจากพายุโซนร้อนโนอึล “NOUL” ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลจากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การประชุมครั้งนี้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และองคมนตรีท่านอื่นอีก 5 ท่าน เข้าร่วมรับฟังด้วย มีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมประกอบไปด้วย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอีก 3 กลุ่มหลักๆคือกลุ่มพยากรณ์ ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทานกรมทรัพยากรน้ำ และกลุ่มปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รายงานสถานการณ์ภาพรวม แนวโน้ม และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุ "โนอึล" โดยสถานการณ์ของพายุในขณะนี้ปัจจุบันได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศแล้ว ได้เคลื่อนตัวเข้ามายังภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ คือ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ผ่านมาทางภาคเหนือตอนล่าง ด้านจังหวัดเพชรบูรณ์  พิษณุโลก ทำให้แต่ละพื้นที่ที่เป็นทางผ่านได้รับผลกระทบเกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ทั้งนี้ยังมีผลดีตามมาคือแหล่งกักเก็บน้ำ เช่นเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำในหลายจังหวัดมีปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นและยังสามารถรองรับน้ำได้อีก อย่างไรก็ตามภาพรวมของพายุนั้น ถึงแม้อ่อนกำลังลงแล้ว แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง 
 
โดยเมื่อเวลา 13.00 น. ของวันนี้ (19 ก.ย. 2563) พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “โนอึล” ที่ปกคลุมบริเวณอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) บริเวณจังหวัดพิษณุโลก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของประเทศไทยและด้านรับลมมรสุมของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และทะเลมีคลื่นสูง
 
ทางด้านจังหวัดพังงา โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้สั่งการให้ทุกอำเภอจัดชุดเคลื่อนที่เร็วในการติดตามผลกระทบจากพายุลูกนี้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดกับประชาชน กิ่งไม้หรือต้นไม้ล้มทับถนน ทับสายไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าขัดข้อง พร้อมทั้งเฝ้าระวังปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำลำคลอง แม่น้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลบริเวณคอสะพาน เพื่อเปิดทางให้น้ำระบายได้สะดวก ห้ามเรือทุกเล็กออกทะเล ติดสัญลักษณ์ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ และรายงานผลการปฏิบัติให้จังหวัดได้รับทราบ

หน้าแรก » ภูมิภาค