วันศุกร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 08:03 น.

ภูมิภาค

ผวาโรคลัมปีสกิน! มือดีนำซากวัวทิ้งในหมู่บ้านกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้ง

วันเสาร์ ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 20.15 น.
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายธนพงษ์ สัญวงษ์ หรือกำนันนุช ต.ควนปริง พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และอสม. ได้ลงไปตรวจสอบซากวัวพื้นบ้านขนาดใหญ่ เพศผู้ มาทิ้งโดยไม่ทราบสาเหตุริมถนนในหมู่บ้าน ม.7 บ้านนาป้อ ต.ควนปริง จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบสภาพซากขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็นคาวคละคลุ้ง แมลงวันหึ่งบินตอมจนทำให้ชาวบ้านหวาดผวาเพราะช่วงนี้มีกระแสข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) โรคอุบัติใหม่ในโค กระบือ อยู่ในในหลายพื้นที่
 
นายธนพงษ์ หรือกำนันนุช เล่าว่า ช่วงเวลาก่อนเที่ยง มีชาวบ้านแจ้งมายังตนว่าพบซากวัวตายอยู่ข้างถนนใกล้รางรถไฟ พื้นที่ ม.7 บ้านนาป้อ จึงเดินทางตรวจสอบพบว่าเป็นซากวัวที่ตายไปแล้วอายุประมาณ 1 ปีเศษ เพศผู้ สภาพเท้าคู่ด้านหลังมีร่องรอยผูกเชือกไว้ บริเวณลำตัวก็ไม่ได้พบบาดแผลอะไร และเริ่มเน่าเปื่อย มีแมลงวันตอมเต็ม ตนจึงแจ้งไปยังตำรวจสายตรวจ ต.ควนปริง พร้อม ดร.ทักษิณ รักจริง นายก อบต.ควนปริง มาตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็ได้ประสานไปยังปศุสัตว์ จ.ตรัง โดยให้ขุดหลุมฝังได้เลยเพราะสภาพเริ่มเน่าเปื่อยแล้ว และแนะนำให้ใช้ปูนขาวโรยในหลุมก่อนฝัง โดยใช้รถแบ็คโฮขุดหลุมฝังเรียบร้อย
 
นายธนพงษ์ กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าไม่น่าจะเกิดจากโรคระบาดแต่อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุตกหล่นจากรถขณะเคลื่อนย้ายจึงถูกลากมาทิ้ง ตนก็ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของวัว แต่ทราบจากชาวบ้านว่ามีคนลากมาช่วงกลางดึก คนที่มาทิ้งน่าจะคิดว่าเป็นจุดทิ้งขยะซึ่งตอนนี้ทางนายก อบต.ควนปริง ก็ได้ดำเนินการทำความสะอาด และติดป้ายประกาศสั่งห้ามทิ้งขยะบริเวณดังกล่าวแล้ว ซึ่งบริเวณดังกล่าวไม่ใช่เป็นจุดที่ทิ้งขยะแต่เป็นจุดที่มีคนสัญจรน้อยชาวบ้านไม่รู้มาจากไหนมาทิ้งขยะกัน เชื่อว่าน่าจะไม่ใช่คนในพื้นที่ ต.ควนปริง ดูจากขยะส่วนใหญ่เป็นไข่ไก่ ไข่เป็ด น่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าขายอาหาร หลังจากนี้หากมีคนฝ่าฝืนก็ต้องลงโทษตามกฎหมาย เพราะทาง ต.ควนปริง เรามีการรณรงค์เรื่องขยะอยู่แล้ว มีการคัดแยกขยะ เพื่อให้ขยะลดลง
 
ขณะเดียวกันในพื้นที่หมู่7 ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง นายประโยชน์ สมศักดิ์ นายอำเภอนาโยง    พร้อมด้วย นางสาวฉัตติมา จันทนพันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการกลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรังลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อโดยมี นายสนอง หนูวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคนาหมื่นศรี ซึ่งทางกลุ่มได้มีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โรคลัมปี  สกิน ในโคและกระบือ อย่างต่อเนื่องและคอยสังเกตอาการสิ่งผิดปกติของโคที่เลี้ยงไว รวมถึงการกำจัดแมลง หากพบสิ่งผิดปกติจะมีการปรึกษาปศุสัตว์อำเภอหรือปศุสัตว์จังหวัดทันที 
 
นายอำเภอนาโยง กล่าวด้วยว่า การเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ   ทางกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการกำชับทุกจังหวัด ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน ควบคุมและระงับโรคติดต่อโรคระบาดสัตว์ตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มิให้แพร่กระจายไปในพื้นที่อื่น และบรรเทาความเดือดร้อนจากโรคระบาดดังกล่าว จึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 
 
ขณะที่นางสาวฉัตติมา จันทนพันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการกลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง กล่าวว่า การป้องโรคลัมปี  สกิน ในโคและกระบือ คือการทำวัคซีนแต่หากเกิดโรคขึ้นแล้ว ก็จะรักษาตามอาการ หากโค กระบือ มีไข้ก็จะใช้ยาลดไข้ ลดปวด  ยาแก้อักเสบ หากมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง แล้วแตกออกมีน้ำเหลือง ก็จะใช้ยาเป็นครีมทาที่ผิวหนัง และยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  ร่วมกับการฉีดพ่นฆ่าเชื้อ และการกำจัดแมลง  ข้อสังเกตของโรค โค จะมีไข้ ซึม ไม่กินอาหาร ร่วมกับมีผื่นขึ้นตามตัว  ผื่นจะขึ้นเป็นตุ่ม ขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับปริมาณของไวรัสที่เข้าไปในตัวสัตว์ ประมาณ 2 อาทิตย์ ตุ่มก็จะแตกและตกสะเก็ด  พาหะของโรคของตัวเหลือบ ซึ่งสามารถบินได้ไกลถึง50 กิโลเมตร จึงทำให้โรคแพร่กระจายได้เร็ว จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจึงเร่งควบคุมโรคโดยการฉีดพ่นยาเพื่อฆ่าพาหะของโรค หากพบสัตว์ป่วยลักษณะดังกล่าวให้รบแยกออกจากฝูงทันที.

หน้าแรก » ภูมิภาค