วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 13:52 น.

ภูมิภาค

อลังการงานสร้าง! อารยสถานปนาอโรคยาแลนมาร์คแห่งใหม่เมืองอุดร

วันพฤหัสบดี ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564, 20.34 น.
วันที่ 23 ก.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใครผ่านมาผ่านไปบนถนนมิตรภาพหมายเลข 2 ก่อนจะเข้าตัวจังหวัดอุดรธานีประมาณ 15 กม.ตอนนี้จะสังเกตเห็นโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ลานจอดรถและรั้วของรพ.ฯ จนเป็นที่สะดุดตา หากเป็นเวลายามค่ำคืนจะประดับด้วยแสงไฟโดดเด่นมาก ทางรพ.มะเร็งจ.อุดรธานีหวังให้เป็นแลนมาร์คแห่งใหม่ให้ผู้ป่วยมะเร็ง ญาติผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไปได้แวะเข้าไปสัมผัสสถาปัตย์ที่โดดเด่นไม่มีที่ไหนมาก่อนแห่งนี้
 
 
โดยในเรื่องนี้ นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี เปิดเผยว่า การก่อสร้างอารยสถาปัตย์ที่แห่งนี้ ทางโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี ตั้งโจทย์ให้สถาปนิกออกแบบ พื้นที่บริเวณด้านหน้าอาคารรังสีวินิจฉัย ซึ่งเป็นตึกอำนวยการและตึกผู้ป่วยนอกหลังเก่า โดยต้องการให้เป็นที่สามารถเยียวยารักษาคนไข้ และผู้พักคอยได้ด้วย ให้บ่งบอกถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสาน  และต้องการให้จุดนี้เป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดอุดรธานี ครั้งแรกที่คิดคนก็บอกว่าเราเพ้อเจ้อ ซึ่งเราก็เห็นภาพมาก่อนแล้ว ได้มีการพูดคุยกับทีมงานทั้งฝ่ายช่าง ผู้รับจ้าง ผู้ควบคุมงานให้เข้าใจ แรกๆคนอาจจะไม่เห็นภาพ ระยะเวลาที่เราดำเนินงานก็มีปัญหาค่อนข้างเยอะ แต่สุดท้ายก็ร่วมมือกันเพื่อต้องการที่จะเป็นแลนด์มาร์ค เมื่อมาเห็นก็จะทราบเลยว่าเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด ที่ไม่มีที่ไหน ใช้งบประมาณก่อสร้าง 23 ล้านบาท  ซึ่งด้านข้างจะมีต้นทองกวางขนาดใหญ่ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จปลูก เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2542 และก็ได้ปลูกเพิ่มเติมอีกกว่า 60 ต้น
 
 
เราได้ตั้งโจทย์ให้สถาปนิกออกแบบ โดยต้องการให้เป็นสามารถเยียวยารักษาคนไข้ และผู้พักคอยได้ด้วย ทางสถาปนิก ที่ออกแบบได้คำนึงปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเยียวยา โดยคิดถึงระยะห่าง ช่องว่างของภูมิทัศน์ในโรงพยาบาล ธรรมชาติของต้นไม้ที่จะช่วยฟอกอากาศและลดอุณหภูมิของพื้นที่เหมาะสม นอกจากนี้เรายังมีการใช้สีซึ่งเป็นสีที่ออกไปในแนวทางธรรมชาติ ถือว่าเป็นสถานที่เยียวยาจิตใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งและยังจะเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับญาติคนไข้หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าไปดูได้
 
 
ทางด้านนายเฉลิม แสงศิลา สถาปนิก บอกว่า นอกจากโจทย์ที่โรงพยาบาลให้มาแล้ว เราได้ออกแบบโดยคำนึงหลักการที่สำคัญของภูมิทัศน์จุดนี้ คือ อาคารผู้ป่วยหลังเก่าซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่า และอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบใหม่ อาคาร 2 หลังนี้เป็นอาคารคนละยุคสมัย เราจึงปรับภูมิทัศน์จุดนี้ให้เป็นตัวกลางประสานระหว่าง 2 อาคาร โดยภูมิทัศน์เราได้ใส่เอกลักษณ์ความเป็นอุดรธานีโบราณเข้าไปโดยนำลวดลายผ้าหมี่ – ขิด ซึ่งเป็นลวดลายผ้าประจำจังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้ยังได้แรงบันดาลใจมาจากใบเสมาที่อยู่รอบโบสถ์มาเป็นแนวทางในการสร้างรูปแบบการออกแบบซึ่งสื่อถึงความเป็นไทย ภูมิทัศน์จุดนี้จะดีที่สื่อถึงความเป็นจังหวัดอุดรธานีได้อย่างลงตัว หากตั้งชื่อก็อยากให้ทุกคนได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ เบื้องต้นได้จำลองชื่อคืออารยสถาปัตย์หรืออารยสถานปนาอโรคคายาแลนมาร์คแห่งใหม่เมืองอุดรธานี หากใครผ่านเข้าตัวเมืองอุดรธานีแวะชมความงามของอารยสถาปัตย์ที่โรงพยาบาลมะเร็งได้ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน/
 

หน้าแรก » ภูมิภาค