วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 11:04 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพุธ ที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2561, 00.10 น.

บทเรียน “ช่วยชีวิต”

ปรากฏการณ์ช่วย 13 ชีวิต “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ถือเป็นอีกหนึ่ง “บทเรียน” สำคัญ เจ้าค่ะ

จนถึงวันนี้ แทบจะทุกฝ่าย คงจะโล่งใจและสบายใจขึ้น

โดยเฉพาะหลังการระดมทุก “สรรพกำลัง” ทั้งกำลังคน กำลังทุน กำลังเครื่องไม้เครื่องมือ กำลังใจ และ ฯลฯ ทั้งจากภายในประเทศและจากทั่วโลก

 

ทุก “สรรพกำลัง” ระดมกันมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

เพื่อ “ปฏิบัติการ” ช่วย 13 ชีวิตนักฟุตบอลและโค้ช ทีม “หมูป่าอะคาเดมี่”

นับตั้งแต่วันแรก ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา นาทีต่อนาที กระทั่งผ่านไปร่วม 10 วัน และสามารถ “บรรลุผลสำเร็จ” เมื่อ “ทีมค้นหา” สามารถเข้าถึงจุดที่ทั้ง 13 ชีวิต” ปักหลักรอคอยความช่วยเหลืออยู่

 

นี่เป็นผลของการ “ร่วมมือ-ร่วมใจ” และเป็นผลของการทำงานเป็น “ทีม” อย่างแท้จริง เจ้าค่ะ

 

แน่นอนว่า นี่เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ในที่สุด “ปฏิบัติการ” ครั้งนี้ ก็สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี

โดยแทบจะไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ต่อร่างกายและชีวิต ของทั้ง 13 ชีวิต” ที่ปักหลักรอคอยความช่วยเหลือ

ทว่า ! นี่ก็เป็น “บทเรียนสำคัญ” ของสังคมไทย ที่ควรต้องมีข้อสรุปของ “บทเรียน” เจ้าค่ะ

 

คุณ “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” ได้เขียนลงใน “เฟซบุ๊ก-แฟนเพจ” ของท่าน ถึง “บทเรียนจากการช่วยเหลือเด็กติดถ้ำ”  ซึ่ง อิฉัน ได้อ่านแล้ว เห็นว่า น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ เจ้าค่ะ

 

“บทเรียนจากการช่วยเหลือเด็กติดถ้ำ” ที่ คุณ “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” เขียนถึง มี 4 ข้อ

 

“1.การช่วยเหลือที่ประสบความสำเร็จ มาจากการทำงานเป็น “ทีม”

หลายฝ่ายมาช่วยเหลือ ทั้งนักดำน้ำ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำ จากทั่วโลก นักวิชาการหลายแขนง ทหาร ตำรวจ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย จิตอาสาทั้งหลาย ที่ตั้งโรงครัว ซักเสื้อผ้า

ลำพังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคงไม่สำเร็จ

 

2.เด็กทั้ง 13 คน ไม่ควรถูกปฏิบัติจากสังคมดั่ง “ฮีโร่” พวกเขาคือ “ผู้ประสบภัย”

“ฮีโร่ตัวจริง” คือ “คนทำงานเป็นทีม” และส่วนใหญ่เป็น “วีรบุรุษนิรนาม” ที่ไม่ต้องการชื่อเสียงอันใด มาทำงานด้วยใจอย่างเงียบ ๆ และจากไปไร้ร่องรอย

 

3.ควรถอด “บทเรียน” การจัดการ “ภัยพิบัติ” จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เพราะเป็นโอกาสดีมาก ที่จะได้เห็น “จุดอ่อน-จุดแข็ง” ในการ “รับมือภัยพิบัติ”

ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกระทันหัน แต่ต้องการบรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือชีวิตด้วยความรวดเร็ว ดังนั้น “การจัดการ” อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างรวดเร็ว คือสิ่งอันล้ำค่ายิ่ง

 

4.ชีวิตทุกชีวิตมีค่ายิ่ง เราควรจะดูแลปกป้องชีวิตคนไม่ให้สูญเสีย ไม่ว่าจะมาจากอุบัติเหตุ หรือความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ อีกต่อไป”

 

นี่เป็น “บทเรียนสำคัญ” ของสังคมไทย ที่ควรต้องมีข้อสรุปของ “บทเรียน” อย่างจริงจังเสียที เจ้าค่ะ

และ “บทเรียน” ที่ควรต้องสรุปในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็น “บทเรียนสำคัญ” สำหรับห้วงเวลาต่อไป เจ้าค่ะ !!!

 

//....................