วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 09:35 น.

การเมือง » คอลัมน์

เรื่องของ “สนธิสัญญามาร์ราเคช”

 

              มีความเคลื่อนไหวที่ไม่เป็นข่าวใหญ่โตนัก แต่ถือว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง เจ้าค่ะ

             เรื่องที่ว่านี้ เกี่ยวข้องกับ “สนธิสัญญามาร์ราเคช”

 

            “สนธิสัญญามาร์ราเคช” มี “วัตถุประสงค์” เพื่อ “อำนวยความสะดวก” ในการเข้าถึง “สิ่งพิมพ์” สำหรับ “คนตาบอด ผู้มีความบกพร่องทางการเห็น และคนพิการทางสื่อสิ่งพิมพ์”

              ได้รับการรับรองจาก “องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก” เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2556

              และสนธิสัญญาฯนี้ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2559

              โดยปัจจุบัน มีรัฐภาคีจำนวน 26 ประเทศ และร่วมลงนามจำนวน 63 ประเทศ

              ซึ่ง “ประเทศไทย” ก็กำลังดำเนินการการยกร่างแก้ไข “พรบ.ลิขสิทธิ์” เพื่อเข้าร่วมตามสนธิสัญญาฯนี้ เจ้าค่ะ

 

                ว่าไปแล้ว ถ้าดูตาม “เจตนารมณ์” และ “วัตถุประสงค์” ของสนธิสัญญาฯนี้ ต้องถือว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อการ “เข้าถึง” งานอันมี “ลิขสิทธิ์” ต่าง ๆ ของ “ผู้พิการ” ที่ขาดโอกาส

                ทว่า ! เมื่อมี “ข้อดี” ก็อาจมี “ข้อเสีย”

                โดยเฉพาะกับ “ข้อเสีย” ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมา หากไม่พิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน

 

                ว่ากันตั้งแต่เรื่องของการให้ “คำนิยาม” ตลอดจน “คำจำกัดความ”

                ไปจนถึงการ “ขยายความ” จนเกิน “ตัวความ” ตลอดจน “ความไม่ชัดเจน” ของการ “บังคับใช้” และประเด็นสำคัญอันว่าด้วยการ “ผลักภาระ” ให้กับ “เจ้าของลิขสิทธิ์”  ในการ “พิสูจน์ความจริง” เมื่อถูกละเมิด

 

                ที่ผ่านมา หลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมนักเขียนฯ , สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ , สมาพันธ์ภาพยนตร์ฯ , สมาคมธุรกิจบันเทิงไทย , สมาคมนักแปลและล่ามฯ , สมาพันธ์การอ่านฯ , สมาคมนักออกแบบ และ ฯลฯ

                ได้ร่วมกันเสวนา และนำเสนอความคิดความเห็น โดยเฉพาะข้อกังวลต่าง ๆ

 

                ทั้งเรื่อง “องค์กรผู้จัดทำ” ที่จะเป็นผู้ดำเนินการ

                ทั้งเรื่อง “ผู้ที่ได้รับประโยชน์” ที่ “ร่างพรบ.” ที่จะมีการแก้ไข ได้ “ขยายความ” จนครอบคลุมกว้างขวาง เกินกว่าที่ “สนธิสัญญาฯ” กำหนดไว้

                ทั้งเรื่อง “ผลประโยชน์ตอบแทน” ต่อ “เจ้าของลิขสิทธิ์” ที่ใน “สนธิสัญญาฯ” มีระบุถึง “ค่าชดเชย” ที่จะให้ต่อ “เจ้าของลิขสิทธิ์” ขณะที่ใน “ร่างพรบ.” ที่จะมีการแก้ไข กลับไม่มีการระบุถึง

                ทั้งเรื่อง “การเผยแพร่” ที่ใน “สนธิสัญญา” ระบุให้ “องค์กรผู้จัดทำ” เผยแพร่ต่อ “สาธารณชนผู้พิการ” เท่านั้น ขณะที่ “ร่างพรบ.” ที่จะมีการแก้ไข กลับระบุให้ “องค์กรผู้จัดทำ” สามารถเผยแพร่ต่อ “สาธารณชน”

                ซึ่งอาจหมายความว่า ใครก็ “เข้าถึง” ได้ “เผยแพร่” ที่ไหนก็ได้ และใน “สื่อสาธารณะ-สื่อโซเชียล” ใด ๆ ก็ได้

 

                และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่านี้ ถ้าทำให้ “เจ้าของลิขสิทธิ์” เสียสิทธิ์เกินความจำเป็น “เจ้าของลิขสิทธิ์” ก็ต้อง “รับภาระ” ในการไปดำเนินการ “ฟ้องร้อง” และ “พิสูจน์” ต่อ “ศาล” เอาเอง เจ้าค่ะ

 

                นี่เป็นเรื่อง “น่าเศร้า” อย่างยิ่ง ถ้าเรื่องที่ควรจะเป็นประโยชน์ กลับถูกเร่งรัดดำเนินการโดยไม่รอบคอบ

 

                และจะยิ่งหนักหนาสาหัสกว่านั้น ถ้าเรื่องที่ว่านี้ จะเต็มไปด้วย “ช่องว่าง-ช่องโหว่” กระทั่งอาจทำให้เกิด “ผลเสีย” และ “ผลกระทบ” ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

                เรื่องนี้ สำคัญอย่างยิ่ง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ควรต้องพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบและรอบด้าน เจ้าค่ะ

 

               อิฉัน เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า “นักเขียน-ผู้สร้างงาน” ทุกท่าน ยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง ที่จะ “เปิดโอกาส” ในการ “เข้าถึง” ของ “ผู้พิการ” ที่ “ขาดโอกาส” ตามที่ “สนธิสัญญาฯ” ระบุไว้

               แต่พร้อม ๆ กันนั้น ก็ควรต้องมี “กฎ-กติกา-มารยาท” ที่ครอบคลุมอย่างชัดเจนและชัดแจ้ง

               ทั้งเพื่อ “ปกป้องสิทธิ์” และเป็น “บรรทัดฐาน” สำหรับการปฏิบัติและบังคับใช้ อย่างชอบธรรมและเป็นธรรม

 

               เรื่องดี ๆ เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ไม่มีใครปฏิเสธหรอก เจ้าค่ะ

               แต่ถ้าเรื่องดี ๆ ถูกนำมาดำเนินการอย่างรวบรัด-เร่งรัด โดยไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม และอาจทำให้เกิดผลเสียหรือผลกระทบตามมาอย่างกว้างขวาง มันก็ต้องมีการทักท้วงเพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนอย่างถึงที่สุด

 

                โบราณว่า ไม่ต้องรีบร้อน ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม เจ้าค่ะ !!!

 

//...........................