วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 12:19 น.

อื่นๆ » คอลัมน์

“เกาะหมาก” ธรรมนูญท่องเที่ยว-ชีวิตงดงามยั่งยืน

 

                “เกาะหมาก” สดใส ร่วมใจลดคาร์บอน KohMak...Low Carbon

                ข้างต้นนี้ เป็นชื่อกิจกรรม ที่ “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)” หรือ “อพท.” ร่วมกับ “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมาก”

                ตลอดจนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และประชาชนบนเกาะหมาก

                ร่วมกันจัดกิจกรรม “ส่งเสริมการท่องเที่ยว” ที่ “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

                เพื่อสร้างการรับรู้ “ธรรมนูญเกาะหมาก” ให้แก่นักท่องเที่ยว และเป็นเครือข่ายสร้างการพัฒนาการท่องเที่ยว ใน “เกาะหมาก” อย่างยั่งยืน

                กิจกรรมนี้ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 2 ก.ย.2561 ณ “เกาะหมาก” จ.ตราด

 

 

                เราและคณะสื่อมวลชนกว่า 20 ชีวิต นัดหมายพบกันตั้งแต่เช้าตรู่ ของวันศุกร์ที่ 31 ส.ค. เพื่อออกเดินทางโดย “รถตู้” ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางร่วม ๆ 5-6 ชั่วโมง

                จากนั้น ก็จะต้องเดินทางต่ออีกชั่วโมงเศษ ๆ ด้วยเรือโดยสารขนาดใหญ่ เพื่อข้ามไปยัง “เกาะหมาก”

                สารภาพตามตรงว่า แค่คิดถึงการเดินทางไป “เกาะหมาก” หัวใจก็เต้นระรัวด้วยความตื่นเต้นอย่างยิ่ง

                นี่เป็นครั้งแรก ที่เราจะได้ไปสัมผัส “เสน่ห์” ของ “เกาะหมาก” เกาะที่ว่ากันว่า เป็นยิ่งกว่า “เกาะสวรรค์” ด้วยสีสันของธรรมชาติ ที่ยังคงงดงามล้ำค่า ตลอดจนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมชุมชน ที่ยังคงถูกอนุรักษ์ไว้อย่างถึงที่สุด

                “ตัวเอง เราเตรียมของใส่กระเป๋าใหญ่ ๆ ไป 2 ใบจะพอไหม”

                “บ้าเหรอ เราไปแค่ 2 คืน 3 วันเองนะ”

                “อ้าว... ก็เผื่อติดใจจะได้อยู่กันยาว ๆ เลยไง อิอิ”

                เราและเพื่อนสนิท ที่ร่วมคณะไปด้วยกันในคราวนี้ อดแซวกันด้วยความตื่นเต้นไม่ได้ ไม่อยากบอกเลยว่า หลายวันก่อนถึงวันเดินทางจริง หัวข้อในการสนทนาของเรา ล้วนแล้วแต่อยู่ที่ “เกาะหมาก” ทั้งสิ้น

                “ตัวเอง เราไปรอที่จุดนัดตรงปั้มน้ำมันเลยนะ เราไม่ไปรอตรงห้าแยกลาดพร้าวแล้วนะ”

                “แว๊กกกกก บ้าเหรอเธอ ขืนไปยืนรอตรงห้าแยก คงได้ติดไปกับหน้ารถใครสักคนแล้วล่ะ”

 

 

                เราและคณะใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชั่วโมง จนเข้าเขต จ.ตราด และเดินทางต่อไปจนถึงสถานที่จำหน่ายตั๋วเรือโดยสาร เพื่อข้ามไปยัง “เกาะหมาก” จากนั้น คณะของเราก็ลงเรือโดยสารขนาดใหญ่ โดยใช้เวลาชั่วโมงเศษ ๆ

                บางคนในคณะปลีกเวลาไปพักผ่อนส่วนตัว และหยุดพักสายตา

                ขณะที่บางคนกลับตื่นตาตื่นใจ กับการลอยคว้างอยู่กลางทะเล ท่ามกลางคลื่นลมที่สูง 2-3 เมตร

                คลื่นสูงที่ว่านี้ ทำให้เราใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้นกว่าปกติ และก็เพราะคลื่นลมที่ว่านี้อีกเช่นกัน ที่ทำให้บางคนถึงกับเมาเรือเมาคลื่น กระอักกระอ่วนกับอาการผะอืดผะอม จนอดไม่ได้ที่จะต้องปล่อยมันออกมา

                แต่นี่ก็เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว และความทรงจำส่วนตัว ที่ใครก็ไม่สามารถมีได้ ถ้าไม่ได้มาด้วยตัวเอง

                โดยเฉพาะเมื่อ “เกาะหมาก” อยู่ตรงหน้า และทักทายเราด้วยธรรมชาติแท้ ๆ ที่งดงามเกินคำบรรยายใด ๆ

                คณะของเราใช้เวลาไม่นานนัก ในการเข้าที่พักเพื่อเก็บของ เพื่อจะเข้าร่วมกิจกรรมแรก ที่รอต้อนรับเราอยู่

                กิจกรรมที่ว่านี้ ก็คือ การปล่อย “เต่ากระ” คืนสู่ธรรมชาติ ก่อนที่ตะวันจะลับฟ้า จนทำให้มันกลับบ้านไม่ได้

 

 

                “เต่ากระ” ตัวนี้ ติดอวนบาดเจ็บขาซ้ายขาด และถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นเมื่อหลายเดือนก่อน

                 “เครือข่ายอนุรักษ์” และเจ้าหน้าที่ได้นำมารักษา พร้อมกับ “เต่ากระ” ขนาดใหญ่อีกตัวหนึ่ง แต่โชคร้ายที่ “เต่ากระ” ตัวหลัง ตายไปก่อนเพราะทนความเจ็บปวดไม่ไหว เนื่องจากในตัวเต็มไปด้วยขยะพลาสติกที่กลืนกินลงไป

                เราอดน้ำตาซึมไม่ได้ ทั้งดีใจและเสียใจ ที่ “เต่ากระ” ตัวหนึ่งได้กลับบ้าน ขณะที่อีกตัวไม่มีโอกาสได้กลับไป

                และก็อดคิดไม่ได้ว่า บ่อยครั้งเหลือเกินนะ ที่มนุษย์อย่างเรา ๆ ทั้งหลาย ใจร้ายต่อธรรมชาติเสียเหลือเกิน

                วันแรกที่ “เกาะหมาก” ทำให้เรายิ้มกว้างได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ก็ทำเอาน้ำตาซึมได้ไม่น้อย แต่ “เกาะหมาก” ก็ปลอบประโลมให้เราหลับใหลอย่างเต็มอิ่ม ก่อนที่จะตื่นมาเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ ในวันต่อไป

                เช้าวันที่สอง ณ “เกาะหมาก” อากาศแจ่มใส มีหมอกจาง ๆ พร้อมเม็ดฝนโปรยปรายบาง ๆ ต้อนรับพิธีส่งมอบ “รถไฟฟ้า-โซล่าเซลล์” และ “จักรยาน” 100 คัน โดยการสนับสนุนงบประมาณ จาก “อพท”

 

 

                 “ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ” รองผู้อำนวยการ อพท. ประธานในพิธี บอกว่า ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้มแข็ง ของ “เกาะหมาก”

                จะร่วมกันผลักดันให้ “เกาะหมาก” เป็น “แหล่งท่องเที่ยว” ที่เป็น “มิตร” ต่อ “สิ่งแวดล้อม” ใน “ระดับนานาชาติ” ภายใต้แนวคิด “เกาะหมาก โลว์คาร์บอน” ได้อย่างแน่นอน

 

 

                นี่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะขณะที่การท่องเที่ยวเติบโตจนเกินฉุดรั้ง วิถีตามธรรมชาติที่งดงามก็เสื่อมถอยลง

                โดยเฉพาะเมื่อเรา ๆ ท่าน ๆ ทั้งหลาย เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการทำร้ายและทำลายธรรมชาติ

                นี่ยังไม่รวมถึง “วิถีชีวิตชุมชน” และ “วิถีวัฒนธรรม” ที่ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

                ความจริงก็คือ ไม่มีใครทำร้ายและทำลายเราได้ ถ้าเราไม่ทำร้ายและทำลายตัวเราเอง

                คำตอบของธรรมชาติเป็นเช่นนี้เอง

                หลังเสร็จสิ้นพิธีส่งมอบ พวกเราร่วมกันปั่นจักรยาน ไปตามเส้นทางท่องเที่ยวที่งดงามรอบเกาะ

                จากนั้น ก็ร่วมกัน “เก็บขยะ” บริเวณชายหาด ร่วมกับ Trash Hero” โดยกิจกรรมนี้จะมีขึ้นทุกวันเสาร์ ทั้งเด็ก ๆ ชาวชุมชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ต่างก็มาร่วมกิจกรรม “จิตอาสา” กันอย่างคึกคัก

                เราไม่แปลกใจเลยที่ไม่ค่อยเห็นขยะเกลื่อนกลาด ทั้งบริเวณหาดทราย และบริเวณอื่น ๆ ของ “เกาะหมาก”

                แต่เราก็อดคิดไม่ได้ว่า แล้วขยะจากที่อื่น ๆ เกาะอื่น ๆ หรือแม้แต่ขยะที่ถูกทิ้งลงในทะเล และขยะที่มาจากชายฝั่ง เมื่อไหร่เราจะช่วยกันเก็บจนหมด หรืออย่างน้อยที่สุด เมื่อไหร่เราจะหยุดการทิ้งได้ด้วยตัวเราเอง

                นี่อาจเป็น “การบ้าน” ข้อใหญ่สำหรับเราทุก ๆ คน ถ้าเรายังรักและหวงแหนธรรมชาติอันงดงามนี้

 

 

                เสร็จจากกิจกรรมเก็บขยะ คณะของเราก็ได้เข้าชมและเรียนรู้ กระบวนการปลูกผักปลอดสารพิษนานาชนิด พร้อม ๆ กับการได้อิ่มท้องด้วยอาหารที่ทั้งสด ทั้งปลอดสารพิษ และทั้งอร่อยอย่างยิ่ง

                แต่ที่น่าทึ่งที่สุด ก็เห็นจะเป็นการนำเอาเทคโนโลยี ยุค 4.0 อย่าง “ไลน์” มาทำเป็นไลน์กลุ่ม “เกาะหมาก” เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารแจ้งข่าวการ “ซื้อขาย” สินค้าต่าง ๆ ของทุก ๆ คน บน “เกาะหมาก” โดยวิถีของชุมชนพึ่งพากัน

                ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า “เกาะหมาก” มีเสน่ห์และงดงามเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านวิถีของธรรมชาติ

                “เกาะหมาก” อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารการกิน โดยเฉพาะอาหารทะเลสด ๆ และอาหารพื้นถิ่น

                “เกาะหมาก” มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติ ที่ทุกคนรักและหวงแหน

 

 

                “ลุงใหญ่” เจ้าหน้าที่ของ “มะกะธานีรีสอร์ต” ที่คณะของเราได้ไปพัก ยืนยันสิ่งเหล่านี้ ด้วยการอาสาพาพวกเรา ตระเวนเที่ยวชมรอบเกาะ ทั้ง “พิพิธภัณฑ์เกาะหมาก” , “วัดเกาะหมาก” ตลอดจน “สถานที่พัก” ต่าง ๆ ทั่วทั้งเกาะ

                ภาพที่ปรากฏต่อสายตาของเรา ยืนยันชัดเจนถึงความแตกต่างของวิถีธรรมชาติ ที่งดงามเกินจะบรรยายจริง ๆ

 

 

                “เกาะหมาก” สดใสจริง ๆ และจะยิ่งสดใสยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราทุก ๆ คน ร่วมแรงร่วมใจกัน “ลดคาร์บอน”

                ความจริงก็คือ ไม่มีใครทำร้ายและทำลายเราได้ ถ้าเราไม่ทำร้ายและทำลายตัวเราเอง

 

 

                “เกาะหมาก” ทำได้ และทุก ๆ พื้นที่ก็สามารถทำได้

                ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นเพื่อเราทุก ๆ คน อย่างยั่งยืนและงดงามที่สุด

                 ขอบคุณ “เกาะหมาก” ด้วย “คำสัญญา” ว่า เราจะพบกันอีกครั้งแน่นอน...

 

ออนอาร์ต / roythao@yahoo.com

 

หมายเหตุ : ขอบคุณ “ข้อมูล-ภาพ” จาก “กมลชนก โสตะวงศ์ – ภัสวัลย์ ปทุมศรีสุวรรณ”

 

//.....................