วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 01:45 น.

การศึกษา

มหาบัณฑิต ม.มหิดล สร้างตุ๊กตาพูดได้สอนป้องกันล่วงละเมิดทางเพศ

วันอาทิตย์ ที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 14.14 น.
มหาบัณฑิต ม.มหิดล สร้างตุ๊กตาพูดได้สอนป้องกันล่วงละเมิดทางเพศ
 
 
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้ผลงาน "ผลของการใช้หนังสือเล่าเรื่องและตุ๊กตา “Say Yes! Say No! and Go away" (SYN-GO) ต่อพฤติกรรมป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนรัฐบาลกรุงเทพมหานคร" ของ นางสาวอริสา โพธิ์ชัยสาร มหาบัณฑิตสาขาวิชาสุขศึกษาและส่งเสริมสุขภาพ
 
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา ตันสกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์นวัตกรรมระดับดีมาก โดยมีกำหนดเข้าพิธีมอบรางวัล และโล่ประกาศเกียรติคุณ ในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2562 วันที่ 8 สิงหาคมนี้
 
นางสาวอริสา โพธิ์ชัยสาร กล่าวว่า การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขในระดับโลก และประเทศไทย โดยในประเทศไทยพบการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กเพิ่มขึ้นมากทุกปี จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2558 พบว่ามีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศถึงประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็กที่พบมากที่สุด คือ การสัมผัสทางเพศที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การลวนลาม การให้จับอวัยวะเพศของผู้ล่วงละเมิดและการลูบคลำร่างกายของเด็ก โดยผู้ที่กระทำกับเด็กกว่าร้อยละ 93 เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งมีทั้งคนในครอบครัว รวมถึงคนที่เด็กรู้จักไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด โดยการล่วงละเมิดทางเพศก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อร่างกายจิตใจสุขภาพและการดำรงชีวิตของเด็ก นำไปสู่การตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า การแสดงออกทางเพศอย่างไม่เหมาะสม การยอมรับนับถือในตัวเองค่อนข้างต่ำ การสูญเสียความสามารถทางสังคม การมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ติดเชื้อ HIV การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ คิดฆ่าตัวตาย ตลอดจนการติดยาเสพติด ฯลฯ
 
จากการวิจัยพบว่า การป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กควรเริ่มตั้งแต่วัยเด็กตอนต้นที่มีอายุระหว่าง 6 - 12 ปี เพราะเด็กวัยนี้เริ่มสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รอบตัว รู้จักสังเกตเห็นความแตกต่าง และสามารถคิดเปรียบเทียบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ได้ จากการได้สัมภาษณ์ครูผู้สอนวิชาสุขศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3 ผู้วิจัยพบว่าเด็กมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายทางเพศเบื้องต้น เช่น ไม่ควรไปไหนกับคนแปลกหน้า แต่เด็กยังขาดทักษะในการเอาตัวรอดหรือปฏิเสธเมื่อเกิดสถานการณ์ที่เสี่ยง ผู้วิจัยจึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาสื่อ SYN-GO (“Say Yes! Say No! and Go away") ในการสอนป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กที่บุคคลทั่วไปใช้งานได้ ซึ่งประกอบด้วย 1) หนังสือเล่าเรื่อง "อย่าจับหนูนะ" ที่ผู้วิจัยออกแบบขึ้นใหม่โดยอ้างอิงเนื้อหาจากหลักสูตรการเรียนการสอนตามมาตรฐานในรายวิชาสุขศึกษาเนื้อหาที่สอดคล้อง ได้แก่ หัวข้อร่างกายของฉัน และวิธีหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่นำไปสู่การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเพิ่มเนื้อหาทักษะที่สำคัญในการกระทำพฤติกรรมป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กที่พบจากการทบทวนวรรณกรรมและศึกษานำร่อง ได้แก่ การแยกแยะสัมผัสที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัย
 
การปฏิเสธเมื่อได้รับสัมผัสที่ไม่ปลอดภัย และการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เมื่อได้รับสัมผัสที่ไม่ปลอดภัย และ 2) ตุ๊กตารูปร่างเด็กหญิง (ชูใจ) และเด็กชาย (ใบบุญ) ที่สามารถส่งเสียงได้เมื่อถูกสัมผัสในบริเวณพื้นที่ส่วนตัว คือ ปาก หน้าอก อวัยวะเพศ ก้น และต้นขา ซึ่งผู้วิจัยพัฒนาขึ้นโดยดัดแปลงจากตุ๊กตาสอนป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศของประเทศปารากวัย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบตุ๊กตาและวิธีการพูดให้เหมาะสมกับบริบทของเด็กไทย ซึ่งตุ๊กตาเป็นตัวแบบเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Model) ที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กมีแรงจูงใจในการเรียนรู้ และปฏิบัติตาม โดยผู้วิจัยได้ดำเนินการประดิษฐ์ตุ๊กตาโดยอัดเสียงประโยคที่ถอดบทเรียนได้จากการสัมภาษณ์นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่ 1) บริเวณปากพูดว่า “ห้ามจุ๊บหนูนะ” 2) บริเวณหน้าอกพูดว่า “เอามือของคุณออกไปจากหน้าอกหนู” (เฉพาะตุ๊กตาเด็กหญิง) 3) อวัยวะเพศพูดว่า “ห้ามจับน้องหนูของหนูนะ” 4) ต้นขาพูดว่า “เอามือของคุณออกไปจากขาหนู” และ 5) บริเวณก้นพูดว่า “ห้ามจับก้นของผม” จากนั้นฝังเครื่องอัดเสียงในตุ๊กตาเติมใยสังเคราะห์และเย็บปิด ซึ่งจุดเด่นของสื่อ SYN-GO คือ เป็นสื่อที่ใครๆ ก็ใช้ได้ โดยไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือคุณครู และผู้ใช้สื่อใช้ระยะเวลาในการสอนเด็ก ประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นเด็กๆ สามารถอ่านได้เอง
 
จากการนำสื่อ SYN-GO นี้เข้าไปเผยแพร่สื่อในโรงเรียน คุณครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ครูว่าครูสอนเด็กมาตลอดว่าให้ระวัง แต่ไม่คิดเลยว่าเด็กๆ จะไว้ใจคนแปลกหน้า และแยกไม่ออกขนาดนี้ว่าที่ตรงไหนในร่างกายของเขาที่ไม่ควรให้คนอื่นจับหรือสถานการณ์แบบไหนที่อันตรายต่อเขา มีสื่อแบบนี้มาสอนเขาก็ดีจะได้ช่วยให้เขาเข้าใจมากขึ้น ครูเองก็พูดกับเด็กได้ง่ายขึ้น”
 
นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ปกครองท่านหนึ่งของเด็กกลุ่มที่ได้ทดลองใช้สื่อ SYN-GO ซึ่งกล่าวว่า “ตอนแรกที่พี่มาขอแม่ให้น้องเข้าร่วมกิจกรรม แม่ก็ไม่อยากให้น้องเข้าเท่าไหร่ เพราะคิดว่าไม่จำเป็นต้องรู้ เรื่องนี้สักป.6 แม่จะสอนเอง แต่พอได้เห็นข่าวที่ช่วงนี้มันเยอะมาก แม่เลยคิดได้ว่าเราไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ให้เขารู้ไว้ก็ดี เลยให้เขาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย พอเขากลับมาบ้าน แม่ก็ถามเขาว่าวันนี้พี่สอนอะไร เขาเล่าให้ฟังว่าพี่สอนอะไรบ้าง เขาบอกแม่ได้นะว่าตรงไหนไม่ให้ใครจับ เขารู้ว่าต้องพูดว่ายังไงถ้ามีคนมาจับน้องหนู (อวัยวะเพศ) ของเขา แม่คิดว่าดีแล้วล่ะที่ลูกได้เรียน อยากให้เด็กแถวบ้านได้เรียนด้วยเหมือนกัน เพราะเดี๋ยวนี้ไว้ใจใครไม่ได้ป้องกันไว้ดีกว่า”
 
ผู้วิจัยคาดหวังว่าสื่อ SYN-GO จะช่วยให้เด็กมีความรู้ที่เหมาะสมเพื่อนำสู่การกระทำพฤติกรรมป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเป้าหมายสำคัญของงานวิจัยนี้ คือ “เเม้จะมีเด็กแค่เพียงคนเดียวที่ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศหลังได้ใช้สื่อ SYN-GO ก็ถือว่างานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ” ซึ่งบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพเด็กในโรงเรียนก็สามารถใช้สื่อ SYN-GO ประกอบการสอนเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กนักเรียนได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ สื่อ SYN-GO สามารถใช้สอนเด็ก หรือผู้ปกครองที่เข้ามารับบริการในหน่วยสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยวางแผนครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ หรือหอผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลได้ โดยหน่วยงานที่ติดต่อขอใช้สื่อ SYN-GO ได้แก่ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลบ้านนา จังหวัดนครนายก โรงเรียนชนบทศึกษา จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ ในการนำเสนอผลงานรางวัลวิทยานิพนธ์นวัตกรรมดีเด่น ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดย ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ คณบดีฯ ได้แสดงความชื่นชม และกล่าวว่าจะสนับสนุนต่อยอดผลงานวิจัยนี้ โดยนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำไปใช้เป็นสื่อการสอนเรื่องการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กประถมศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศอีกด้วย  สนใจสื่อ SYN-GO สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-7423-3574 E-mail: milk.r2r.thailand@gmail.com

หน้าแรก » การศึกษา